นาย จ้างมักกำหนดเงื่อนไขว่า เมื่อจะรับลูกจ้างเข้าทำงานแล้ว ขอให้ลูกจ้างทำงานไปสักระยะหนึ่งแล้วนายจ้างจะมีการประเมินผล หากประเมินผลการทำงานหรือความประพฤติของลูกจ้างแล้ว สอบผ่าน ก็จะว่าจ้างต่อเนื่องไป หากไม่ผ่านก็จำเป็นต้องเลิกจ้าง ซึ่งเงื่อนไขอย่างนี้ เขาเรียกกันว่า ทดลองงาน การทดลองงานไม่มีกำหนดระยะเวลาไว้ในกฎหมาย จะกำหนด 4 เดือน 6 เดือน หรือ 8เดือน ก็สุดแท้แต่นายจ้างจะกำหนด แต่ที่นิยมกำหนดว่าระยะเวลาทดลองงานไม่เกิน 119 วัน เพราะพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 กำหนดว่าให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้
(1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่าย ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้าย
ดังนั้น การทดลองงาน จึงเป็นสัญญาจ้างที่มีไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากไม่ผ่านทดลองงาน นายจ้างจะเลิกจ้างวันใดก่อนครบกำหนดทดลองงานก็ได้ มิใช่เป็นการผิดสัญญา ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ แต่การบอกเลิกสัญญาต้องมีระยะเวลาการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 งวดการจ่ายค่าจ้าง (อ่านมาตรา 17)
สัญญาจ้างที่กำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดไว้ กฎหมายเรียกว่า สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดไว้ สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงโดยพลัน หากเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้ว ห้ามมีข้อความหรือ เงื่อนไขใดๆ ว่าจะมีระยะเวลาการทดลองงานโดยเด็ดขาด เพราะกฎหมายถือว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้แน่นอนนั้นเป็นอันไม่แน่นอนเสียแล้ว จากการที่สามารถเลิกสัญญาเมื่อไม่พอใจผลงานได้ ทำให้สัญญาจึงกลายพันธ์เป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาไปทันที
สรุป สัญญาจ้างแรงงานมี 2 แบบคือ
1)สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน สามารถกำหนดช่วงเวลาในการทดลองงานได้นานเท่าใดก็ได้ แต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหากจะมีการเลิกสัญญา (อ่านมาตรา 17) ทั้งนี้มักใช้ในการว่าจ้าง Staff สำนักงาน
2)สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ต้องกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดไว้ หากต้องการเลิกสัญญาก่อนกำหนดจะทำได้ก็ต่อเมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่มีฝีมือตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 578 ถ้าลูกจ้างรับรองโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายว่า ตนเป็นผู้มีฝีมือพิเศษ หาก มาปรากฏว่าไร้ฝีมือเช่นนั้นไซร้ ท่านว่านายจ้างชอบที่จะบอกเลิกสัญญาเสียได้ ตัวอย่างเช่น งานล่ามแปลภาษาต้องสามารถแปลและเขียนภาษาญี่ปุ่นได้ ที่เรียกว่า Freelance หรือ งานอิสระ โดยทำสัญญาจ้างมีกำหนด 1 ปี
ในกฎหมายแรงงานจึงไม่มีคำว่า “พนักงานทดลองงาน” หรือ “พนักงานชั่วคราว หรือ พนักงานประจำ”ตามที่บางคนอาจจะเข้าใจผิด และการจ้างพนักงานจ้างเหมาแรงงาน (Sub Contract) ก็ไม่ใช่พนักงานชั่วคราวเช่นกัน เป็นรูปแบบหนึ่งของการจ้างแรงงาน ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดในคราวต่อไปครับ
เครดิต http://www.oknation.net/blog/Smartlearning/2012/03/12/entry-1