HR TIPS

เคล็ดลับความสำเร็จของงาน HR

1290    8121  

จากการศึกษาบทความของอาจารย์สมชาย หลักคงคา ที่แนะนำเคล็ดลับความสำเร็จของงาน HR ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้นะคะ               

1.  มีความเป็นนักพยากรณ์ (Predictor)

พนักงาน ในองค์กรทุกคนต่างก็มีความคาดหวัง กับนักบริหารงานบุคคล มาทุกยุคสมัย ในเรื่องของการให้บริการที่รวดเร็วฉับไว โดยท่านพยากรณ์ได้จากความรู้สึกขั้นพื้นฐานในจิตใจของตัวท่านเอง  หมายความว่า พนักงานก็มิได้รู้สึกอะไรที่ผิดแผกแตกต่าง ไปจากตัวท่านแต่ประการใด เช่น เมื่อพนักงานมาเบิกค่ารักษาพยาบาล ท่านก็แจ้งระยะเวลาในการดำเนินการในเบื้องต้นก่อน ไม่นิ่งเฉยหรือเพียงแค่รับเอกสาร การเบิกค่ารักษาพยาบาลเท่านั้นและจากนั้น ท่านก็แจ้งพนักงานก่อนที่พนักงานจะสอบถาม ว่าจะรับเงินได้เมื่อไหร่ ก็แปลว่าท่านได้สร้างความประทับใจให้กับพนักงานท่านนั้นไปโดยปริยาย

2.  เป็นนักศึกษา (Educator)

หาก ท่านได้อ่านและศึกษาประวัติบุคคล ที่ประสบความสำเร็จ ในชีวิตการทำงานไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบอาชีพในสาขาใดๆ หรือวุฒิการศึกษา การทำงาน ก็ตามจะสังเกตได้ว่า เขาเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ใฝ่รู้  หมั่นศึกษา และติดตามวิวัฒนาการความก้าวหน้าของวิทยาการต่างๆ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้เขาผู้นั้นเป็นคนที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์  แถมยังเป็นผู้ให้คำปรึกษากับผู้อื่นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย  การมีคุณสมบัติของนักศึกษา จะทำให้ตัวเราเป็นที่น่าศรัทธา น่าเชื่อถือ เปรียบเสมือนดั่งเราเป็นครูอาจารย์เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ความรู้ให้กับลูกศิษย์  พนักงานก็จะให้ความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวเรา

3.  ผู้สร้างความเป็นสนุกสนาน ( Entertainer)

คนไทยส่วนใหญ่ ไม่ว่าลูกเด็กเล็กแดงหรือวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ก็ตามคงไม่มีใครไม่รู้จักพี่เบิร์ดหรือป๋าเบิร์ด ( คุณธงไชย แมคอินไตย์ )  ศิลปินอมตะในดวงใจของใครหลายๆ คน  ด้วยความที่พี่เบิร์ดเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยที่ดี สนุกสนานและมีมธุรสวาจา กับแฟนคลับของเขา ทำให้พี่เบิร์ดสามารถรักษาเข็มขัดแชมป์ และครองใจประชาชนมาได้ทุกยุคทุกสมัย  เรียกว่ากระแสไม่เคยตกเลย  ทุกครั้งที่มีการจัดคอนเสิร์ท บัตรก็จะจำหน่ายหมดภายในไม่เกิน 1 ชั่วโมง  แถมบางครั้งต้องเพิ่มรอบการจัดคอนเสิร์ทอีกด้วยซ้ำไป ซึ่งนักบริหารงานบุคคลท่านใดที่สามารถสร้างความสุข ความสนุกสานให้กับพนักงานในองค์กร ของท่านได้แล้วไซร้ การจะขอความร่วมมือจากพนักงานให้เข้าร่วมโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทฯ ก็จะไม่เป็นเรื่องยากแต่ประการใด เพราะพนักงานมีความรู้สึกว่า HR ท่านนั้น เป็นกันเอง สัมผัสได้ไม่สูงเกินเอื้อม พูดคุยได้อย่างสบายอกสบายใจ

4.  เป็นนักสังเกตการณ์ ( Observer )

เวลาที่ท่านเจ็บป่วยและต้องไปโรงพยาบาล เพื่อรักษาพยาบาลตัวท่านเอง มีบางครั้งที่คุณหมอต้องให้ท่านเข้าพักอยู่ในห้องสังเกตอาการ เพื่อติดตามอาการของโรคนั้น ๆ  นักบริหารงานบุคคลก็ไม่แตกต่างกับคุณหมอนะคะ  ที่ต้องหมั่นคอยสังเกตอาการของพนักงานทุกคนในองค์กร ว่าคิดอย่างไร กับบริษัทฯ  วิพากษ์วิจารณ์เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างานอย่างไร  HR จะได้จ่ายยาได้ตรงกับอาการนั้นๆ  การสังเกตการณ์ในเชิงพฤติกรรมศาสตร์ ผสมผสานกับหลักจิตวิทยา HR จะต้องแสดงพฤติกรรมในเชิงการเลียนแบบ (Simulator )  ยกตัวอย่างเช่น  ต้องแสดงพฤติกรรมเป็นนักบัญชี  ซึ่งหมายถึง ความละเอียดรอบคอบในการทำงาน การจ่ายเงินเดือนพนักงาน หรือ การตรวจสอบเอกสารต่างๆ   บางครั้งต้องแสดงพฤติกรรมเป็นนักกฎหมาย  ซึ่งหมายถึง ความเที่ยงตรงแม่นยำ และการเคารพ  ในกฎกติกามารยาทขององค์กร หรือบางครั้ง ก็ต้องแสดงพฤติกรรมเป็นนักจัดชื้อ ซึ่งหมายถึงการเจรจาต่อรอง การสรรหาคัดเลือก ซึ่งหาก HR ท่านใดสามารถผสมผสาน ความเป็นนักสังเกตการณ์บวกกับ พฤติกรรมในการเลียนแบบได้อย่างกลมกลืนแล้วย่อมประสบความสำเร็จแน่นอน

5.  เป็นผู้ให้กำลังใจ ( Encourager)

การดำรงชีวิตของพนักงานในองค์กร ย่อมจะพบกับอุปสรรคนานัปการซึ่งโดยส่วนใหญ่พนักงานมักจะไม่พบหนทางในการ แก้ไขปัญหาได้อย่างถูกวิธี มิหนำซ้ำ ยังดูถูกตนเอง ว่าเกิดมามีกรรม นามสกุลไม่ใหญ่โต ไม่มีมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษฯลฯ  ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความคิดที่บั่นทอนสุขภาพกาย และสุขภาพใจ ของตัวพนักงานเองทั้งสิ้น  ดังนั้น นักบริหารงานบุคคลจะต้องเข้าใจถึงธรรมชาติความคิดของพนักงาน และเป็นผู้ให้กำลังใจ สร้างขวัญกำลังใจ และปรับเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ศรัทธา และเชื่อมั่นในตนเอง และเป็นที่พึ่งของตนเองได้  ดั่งคำพระที่ว่า " อัตตาหิ อัตตโนนาโถ "  หรือ " ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน "  อีกทั้ง HR มือฉมังก็จะต้องประสบพบเจอกับความกดดันต่างๆ หลายประการในการบริหารงานบุคคล  ก็จะต้องมี " อุเบกขา "  หรือ  ความอดทนอดกลั้น วางเฉยต่อสิ่งที่มากระทบต่อจิตใจ เป็นหลัก  ยึดมั่น ก็จะทำให้ HR มีวัคซีนในตัวเองที่จะสร้างความเข้มแข็ง และความพร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ให้กับพนักงานและตนเองได้อย่างดีเยี่ยม

6.  เป็นผู้กล้าหาญ (Braver )

หาก เราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ในการทำศึกหรือที่เรียกว่าการทำยุทธหัตถี  ซึ่งตำนานที่เลื่องลือมาจนถึงยุคปัจจุบันนั่นคือ ความกล้าหาญของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงรบชนะศึก กับพม่า นักบริหารงานบุคคลก็เช่นเดียวกัน ต่างก็ต้องสู้รบกับความคิดของพนักงานแต่ละตำแหน่ง แต่ละประสบการณ์  และต้องสวมวิญญาณความกล้าหาญที่พร้อมจะนำเสนอความคิดที่แตกต่างอย่างสร้าง สรรค์ และพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมความคิด ของพนักงานในองค์กร  ซึ่งภารกิจดังกล่าวนี้ ในหลายๆ หน่วยงานมีวัฒนธรรมองค์กร และวัฒนธรรมความคิด ของพนักงานที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลานานนับสิบปี  และมักจะไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง หรือสนับสนุนความคิดใหม่ๆ เพราะกลัวว่าจะกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาโดยรวม  ดังนั้น HR จะต้องรวบรวมความกล้าหาญและยึดมั่นในจรรยาบรรณในวิชาชีพ พร้อมทั้งพิสูจน์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ ในเจตนารมณ์ที่ดี ที่จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร และวัฒนธรรมความคิด ของพนักงานให้มีทัศนคติที่ถูกต้องเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ ในยุคที่มีการแข่งขันอย่างสูงในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งนับวันจะเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จ ของทุกๆองค์กรในโลกแห่งยุคโลกาภิวัตน์

                หากนักบริหารงานบุคคลนำเคล็ดลับทั้ง 6 ประการข้างต้น มาใช้เป็นกลยุทธ์ในการปฏิบัติงานอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ ความสำเร็จของงาน HR ก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน โดยเฉพาะผู้บริหารในอนาคต  หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะพาองค์กรของท่านสู่ความสำเร็จ

 

เครดิต  http://www.gotoknow.org/posts/272104