จริงหรือคนเสียเปรียบ! ก.ม.คุ้มครองสัตว์ เปิดวิธีจับ! เผยชีวิตหมา-แมวในกรงทอง กทม.

  • 11 พ.ค. 2563
  • 8278
หางาน,สมัครงาน,งาน,จริงหรือคนเสียเปรียบ! ก.ม.คุ้มครองสัตว์ เปิดวิธีจับ! เผยชีวิตหมา-แมวในกรงทอง กทม.

ตอบปัญหาให้หายข้องใจไปแล้ว สำหรับ กรณี พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ ที่หลายคนกังวลว่า หากถูกสุนัขเข้ามาทำร้าย เราสามารถป้องกันตัวเองได้ แต่การป้องกันตัวเองนั้น ขึ้นอยู่กับเจตนา ว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์หรือไม่

สำหรับ สกู๊ปซีรีส์ "จริงหรือคนเสียเปรียบ! ก.ม.คุ้มครองสัตว์" เดินทางมาถึงตอนสุดท้ายแล้ว ซึ่งในตอนนี้ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ได้รับความอนุเคราะห์จาก นพ.โกวิท ยงวานิชจิต รอง ผอ.สำนักงานอนามัย กทม. ที่เปิดโอกาสให้ทีมข่าวได้เจาะลึกถึงปัญหา "หมาจรจัด" ที่คนกรุงเทพฯ ประสบ และปมปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ กทม. ได้ตามจับจะเป็นการทารุณหรือไม่ หากจับไปแล้ว สัตว์เลี้ยงแสนรักของมนุษย์เหล่านี้ จะมีชะตากรรมเช่นไร ...

สุนัขจรจัด ตัวจริงมีน้อย เพราะส่วนใหญ่มีคนเลี้ยง

นายโกวิท เล่าถึงปัญหาจรจัดใน กทม. ว่า "สุนัขจรจัด" คือสุนัขที่อยู่นอกบ้าน เหมือนสุนัขที่ถูกทอดทิ้ง ต้นทางมาจากสุนัขบ้าน "พอไม่น่ารักแล้ว" หรือ "ไม่รัก" แล้วก็เอามาทิ้ง แต่สุนัขจรจัดจริงๆ พบว่ามีน้อยมาก เนื่องจากสุนัขข้างถนนส่วนใหญ่จะมีผู้เลี้ยง หากเป็นสุนัขจรจัดจริงๆ เราจะสังเกตได้ง่ายว่าสุนัขเหล่านั้นจะไม่แข็งแรง ซูบผอม ต้องคอยคุ้ยขยะกิน ซึ่งแตกต่างจากสุนัขจรจัดที่เราเห็นๆ กัน ส่วนมากจะรูปร่างดี เพราะมีคนคอยให้อาหาร 

ขอบคุณข้อมูล จาก นพ.โกวิท /กรณีทำหมัน เป็นข้อมูลปี 2554

ส่องเก็บสถิติ สุนัขจรจัด พบมีใน กทม. ประมาณ 1 แสนตัว  

รอง ผอ.สำนักงานอนามัย กทม. กล่าวต่อว่า กลุ่มที่เลี้ยงสุนัขนอกบ้าน ก็จะมีอยู่ 2 แบบ คือผู้ใจบุญอยากช่วยเหลือนำอาหารมาให้ กับอีกแบบคือ เลี้ยงในบ้านไม่ได้ โดยจากการสำรวจสถิติสุนัขจรจัดในกรุงเทพฯ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เก็บไว้ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2553 พบว่า มีสุนัขจรจัด ประมาณ 1 แสนตัว ส่วนสุนัขบ้านประมาณ 6 แสนตัว

"เรื่องหมาถือเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งของ กทม. เพราะมันอาจสร้างอันตรายให้กับเด็กๆ หรือผู้เดินผ่านไปมาได้ แต่ละปีจะมีการร้องเรียนเรื่องสุนัข ผ่านสายด่วนของ กทม.​ 1555 ประมาณปีละ 4,500 เรื่อง เรื่องที่ร้องเรียนมากที่สุด คือ 1. พบหมาบ้า หรือสงสัยว่าติดโรคพิษสุนัขบ้า 2. ดุร้าย สร้างความเดือดร้อน และ 3. เห่าหอน สร้างความรำคาญ ทั้งนี้ หากถูกสุนัขกัด ควรเข้าฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าภายใน 24 ชม. หากปล่อยให้เชื้อโรคแพร่กระจาย ก็จะเสียชีวิตได้ เนื่องจากยังไม่มียารักษา" 

รอง ผอ.สำนักงานอนามัย กทม. ยังให้ความรู้และวิธีสังเกตสุนัขที่ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า คือ สุนัขที่ป่วยโรคดังกล่าวจะมีการแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ตาขวาง วิ่งพล่านไปทั่ว ไล่กัดคน แสดงอาการหงุดหงิด ส่วนอีกประเภท คือซึม ไม่สนใจอะไร เมื่อพบสุนัขมีอาการเหล่านี้ ชาวบ้านก็จะแจ้งมาที่ 1555 ซึ่งเป็นเบอร์ของศูนย์ร้องทุกข์ของ กทม. ให้เจ้าหน้าที่ไปจับ

นพ.โกวิท ยงวานิชจิต

เปิดขั้นตอน ก่อนลงมือจับสุนัขจรจัด

สำหรับกระบวนการจับสุนัขจรจัด นายสัตวแพทย์ ศิวะ ไม้สนธิ์ หน.กลุ่มควบคุมและพักพิงสุนัขเผยว่า ขั้นตอนเรื่องนี้ จะเกี่ยวข้องกับคนเลี้ยงสุนัขกับผู้เดือดร้อน โดยหลังรับแจ้งจากประชาชนไม่เกิน 7 วัน ก็จะให้สายจับลงพื้นที่ เพื่อพบผู้ร้อง ก่อนอื่นจะถามว่าเกิดปัญหาอะไร ถ้าเป็นไปได้ต้องมีการพูดคุยกับเจ้าของสุนัข ซึ่งเป็นคนเลี้ยงหรือให้อาหาร แต่ส่วนใหญ่จะไม่พบ

การจับสุนัข เจ้าหน้าที่จะมีอุปกรณ์ คือ รถกระบะ หรือรถกรง ส่วนคนจับจะมีสวิงครอบสุนัข วิธีการก็จะใช้วิธีการล้อมจับ พยายามให้เขาอยู่ในพื้นที่คับแคบ เพื่อให้จนมุมแล้วใช้สวิงครอบ

ปัญหาคือ สุนัขจะพยายามวิ่งหนี หากเป็นพื้นที่กว้าง หรือไม่มีรั้ว ก็อาจจะสามารถหนีไปได้ อีกอุปสรรคใหญ่คือ ปัญหาผู้เลี้ยง บางครั้งผู้ร้องเรียนกับผู้เลี้ยงไม่สามารถเจรจาแก้ปัญหาร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเจ้าหน้าที่จะยึดผลเจรจาของผู้ร้องเรียนและผู้ร้องเป็นหลัก "จับ" หรือ "ไม่จับ" ขึ้นอยู่กับการเจรจาตกลงกัน แต่หากผู้เลี้ยงไม่อยู่ เขาก็จะตามมารับคืน ที่ศูนย์พักพิงสุนัข ที่ประเวศ จากประสบการณ์กว่า 10 ปี พบว่า จะมีผู้เลี้ยงมารับคืนประมาณ 20%

นายสัตวแพทย์ ศิวะ ไม้สนธิ์

ขั้นตอนนำสุนัขกลับ ย้ำห้ามซ้ำรอย มิฉะนั้นอันตรายเกิดกับ ชีวิตสุนัข

นายสัตวแพทย์ศิวะ ย้ำว่า ขั้นตอนการรับกลับ "เจ้าหน้าที่เราจะบอกเขาไปยังผู้เลี้ยงสุนัขว่า สุนัขที่เลี้ยงอยู่สร้างความเดือดร้อนอะไรบ้าง ดังนั้น หากนำกลับต้องมีวิธีการแก้ไข จะนำไปเลี้ยงที่อื่น หรือมีการเลี้ยงที่ระมัดระวังมากขึ้น

"การที่เขาร้องมาที่ กทม.​ ก็เหมือนการส่งสัญญาณเตือนว่าเขากำลังเดือดร้อน เพราะหากปล่อยให้อยู่ที่เดิม สุนัขตัวนั้นอาจจะเป็นอันตราย เพราะผู้ร้องเรียนจะเป็นผู้ลงมือแก้ปัญหาด้วยตัวเอง"

พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ ไร้ผลกระทบตามจับสุนัข 

"เราไม่ได้ไล่ตีสุนัขนะครับ แต่เราใช้สวิงในการจับกุม" รอง ผอ.สำนักอนามัย กทม. กล่าว และ นายสัตวแพทย์ ศิวะ กล่าวเสริมว่า การจับของเราเป็นการจับที่ไม่ทรมาน สุนัขอาจจะรู้สึกตื่นตระหนก แต่เขาไม่ได้บาดเจ็บอะไร กลุ่มคนรักสัตว์ บางครั้งจับสุนัขที่ตัวเองเลี้ยงไม่ได้ ยังเรียกเราไปช่วยจับ

1..2..3 ยิ้มให้กล้องหน่อย!

เทคนิคการจับสุนัขจรจัด

หน.กลุ่มควบคุมและพักพิงสุนัข เผยว่า เทคนิคของเจ้าหน้าที่ กทม. คือการใช้สวิง ซึ่งเป็นการบอกต่อๆ กัน นอกจากนี้ ก็จะมีการแนะนำวิธีการจากผู้บังคับบัญชา แต่สุดท้ายจะอยู่ที่ประสบการณ์และทักษะของแต่ละคน

"ธรรมชาติของสุนัขมี 2 แบบ คือจะเข้าหาคน และกลัวคน ถ้าสุนัขเข้าหาคนก็พยายามไม่ทำให้เขาตื่นตระหนก หรือน้อยที่สุด ถ้าอยู่ด้วยกันสิบตัว เราก็ต้องหาตัวที่เข้าหาคนก่อน เพื่อไม่ให้ตัวอื่นรู้ ถ้าเราจับตัวที่วิ่งหนีก่อน ก็จะทำให้งานยากลำบากมากขึ้น หากเป็นไปได้จะให้ผู้ร้องเรียนหรือคนที่เขาคุ้นเคยช่วยจับให้ก่อน หากจับได้ ก็ให้เขาจับ แต่ถ้าไม่ได้ก็จะให้เจ้าหน้าที่เป็นคนทำ" หน.กลุ่มควบคุมและพักพิงสุนัข กล่าว 

มีอาหารไม่ขาด

ด้าน สัตวแพทย์หญิงแขไข จิตทิชานนท์ ผอ.การสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กทม.​ ได้กล่าวเสริมถึงการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ และการทำหมันสัตว์ว่า นอกจากสุนัขแล้ว กทม. ยังต้องจัดการเรื่องแมวด้วย ที่ผ่านมา มีสายร้องเรียนเรื่องแมวเพิ่มจำนวนมากที่สุด เพราะใน 1 ปี เขาสามารถให้ลูก 1-3 รุ่น แต่จริงๆ แล้ว ข้อร้องเรียนเรื่องแมว มีไม่มาก เพราะไม่ค่อยสร้างปัญหา เขาจะอยู่ของเขาเงียบๆ แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องกลิ่น

"แต่ละปี กทม.​ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ปีละ 3-4 หมื่นโดส ใช้เงินซื้อประมาณ 6 ล้านบาท ทำหมันแมวและสุนัข ปี 2557 ที่ผ่านมา ได้ทำไปประมาณ 27,000 ตัว ทั้งนี้ สุนัขจรจัดที่ถูกจับมาไว้ที่ศูนย์พัก ที่ประเวศ สิ่งแรกที่ทำคือการฉีดวัคซีนให้ก่อน เนื่องจากเราไม่มีประวัติสุนัขทุกตัว จึงต้องทำการฉีดเพื่อป้องกันโรคจากข้างนอกมาแพร่กระจายข้างใน จากนั้นก็ได้ทำการกักกันโรค เพื่อรอดูอาการว่ามีโรคอื่นๆ หรือไม่ จากนั้น ก็รอเจ้าของมารับคืน เราจะรอ 7 วัน ถ้าหากไม่มีใครมารับก็จะส่งไปอยู่คอกเลี้ยงรวม ก็รออีก 7 วัน จากนั้นก็จะขนส่งไปที่ศูนย์พักสุนัข ที่ จ.อุทัยธานี ซึ่งเป็นศูนย์รับเลี้ยงสุนัขของ กทม. โดยสุนัขทั้งหมด เราจะเลี้ยงเขาไปจนตาย แต่เป้าหมายในการเลี้ยงนั้น เราหวังว่าเขาจะมีผู้อุปการะ" รอง ผอ. สำนักอนามัย กทม. กล่าว

สัตวแพทย์หญิงแขไข จิตทิชานนท์



ขออุปการะสุนัข-แมว ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ไม่ง่าย

นายสัตวแพทย์ศิวะ กล่าวถึงการขออุปการะสุนัขและแมวว่า คนที่จะมารับจะต้องมีสำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน แสดงตัวตนชัดเจน เราเองก็ต้องทำการรีเช็กว่าเขาจะเอาสุนัขไปทำอะไร โดยเจ้าหน้าที่จะถามวัตถุประสงค์ และความต้องการ ว่าอยากได้สุนัขแบบไหน จากนั้นก็จะเสนอแนะสุนัขที่เหมาะสม แล้วก็ให้เขาไปดูตัว มีบ้างที่เขาเอามาคืน แต่จำนวนน้อย

นายโกวิท กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ กทม.​เลี้ยงดูสุนัขทั้งหมดกว่า 6 พันตัว หมา 1 ตัว ใช้ค่าอาหารวันละ 7-8 บาท ต่อตัวต่อวัน คิดเป็นปี ก็ปีละประมาณ 12 ล้านบาท งบตรงนี้เกือบทั้งหมดมาจาก กทม. บริจาค ก็มีบ้าง ส่วนมากเขาจะนำอาหารมาให้ ปีละประมาณ 2-3 ตัน หากเปรียบเทียบปริมาณที่ซื้อนั้นมีน้อยมาก เพราะปีหนึ่งเราซื้ออาหารประมาณ 500 ตัน

กลุ่มลูกสุนัข มาหาตามเสียงเรียก

"กทม.​เราดูแลสัตว์จรจัดจนสิ้นอายุไข สุนัข และแมว ถือเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่ใกล้มนุษย์ สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือโรคติดต่อ โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้า เพราะเป็นแล้วตายทุกตัว คนเองก็เช่นกัน สิ่งที่เราช่วยได้คือ การป้องกัน เราต้องป้องกันที่แหล่งโรค คือตัวสัตว์ อย่างน้อยควรได้รับการฉีดวัคซีนปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะแม่สุนัขหรือแมว ควรได้รับการฉีด เพราะอาจจะนำโรคติดต่อไปสู่ลูกได้ ดังนั้น หากพบลูกแมว หรือลูกสุนัข ที่เราไม่ทราบที่มา เราก็ไม่ควรไปอยู่ใกล้ชิดมาก โดยเฉพาะในวัย 2-3 เดือนแรก ถ้าหากมันงับเรา ก็ควรไปฉีดวัคซีนป้องกันตัวเองไว้ก่อน เพราะบางครั้งเชื้อโรคมันอยู่ที่น้ำลาย" รอง ผอ.สำนักอนามัย กล่าวทิ้งท้าย

ลงพื้นที่ศูนย์พักพิงสุนัขประเวศ​ สถานที่พัก ก่อนส่งอุทัยธานี 

ทั้งนี้ ทางทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ลงพื้นที่สถานที่พักพิงสุนัข ย่านประเวศ เมื่อเข้าไปถึง ก็พบ นายสัตวแพทย์ วีรวุฒิ สมพีร์วงศ์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักอนามัย กทม.​ ซึ่งได้เอื้อเฟื้อเดินพาชมสถานที่พร้อมอธิบายเรื่องราว โดยเล่าว่า ได้ทำงานตรงนี้มากว่า 10 ปี แล้ว และเพิ่งย้ายมาอยู่ศูนย์นี้ไม่นาน ที่ผ่านมา เราพบว่ามีสุนัขจรจัดถูกจับมายังศูนย์ดังกล่าวเรื่อยๆ แต่จำนวน ไม่ได้มีเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้ลดลง ก็ถือว่าเรายังสามารถทำหน้าที่ควบคุมจำนวนสุนัขหรือแมวได้ผล

นายสัตวแพทย์ วีรวุฒิ สมพีร์วงศ์

จากการเดินสำรวจ พบมีสุนัขอยู่ในศูนย์ประมาณกว่า 100 ตัว โดยจะมีการแบ่งกรงสุนัขออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นส่วนแรกรับ คือ เพิ่งจับเข้ามา โดยสุนัขกลุ่มนี้จะได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และกักกันดูว่ามีโรคอื่นๆ หรือไม่ สำหรับสุนัขกลุ่มนี้ บางตัวก็ดูปกติ แต่บางตัวก็ดูซูบผอม บางตัวก็พบร่องรอยบาดแผลบ้าง

แมวลายสีขาวส้ม กระโดดโชว์แถมร้องเรียกเป็นระยะ

ในส่วนที่ 2 จะเป็นส่วนที่กักไว้รอเจ้าของมารับ โดยจะกักไว้ประมาณ 7 วัน หากไม่มีผู้มารับ ก็จะนำส่งไปยังศูนย์ใหญ่ที่ จ.อุทัยธานี ซึ่งมีสุนัขกว่า 6 พันตัว สำหรับกลุ่มนี้มีสุนัขหลายสิบตัวอยู่รวมกันในห้องใหญ่ 2 ห้อง มีหลังคาเปิดระบายอากาศ และมีพื้นที่ปิดกันแดดฝน เมื่อทีมข่าวมา ก็พบเสียงสุนัข เห่า หอน วิ่งมาต้อนรับอย่างครึกครื้น

ส่วนที่ 3 เป็นลูกสุนัข จะเป็นพื้นที่ติดกับส่วนที่ 2 โดยมีลักษณะคล้ายกัน เมื่อทีมข่าวเข้าไปใกล้ๆ ลูกสุนัขหลายตัวก็วิ่งเข้ามาหาเช่นกัน บางตัวน่ารักมาก พยายามส่งเสียงอยากให้เข้าไปเล่นด้วย ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า กรงสุนัขทั้งหมดค่อนข้างมีความสะอาด ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่า ได้มีการทำความสะอาดทุกวัน ส่วนอาหารที่ให้ จะเป็นอาหารเม็ดทั้งหมด

ขอหลบแดดหน่อย

จากนั้น ทีมข่าวได้เดินไปอีกกรงหนึ่ง ซึ่งอยู่ติดกัน พบว่า เป็นกรงของแมวจรจัด แต่สิ่งที่สัมผัสได้ทันทีคือกลิ่นอุจจาระ ปัสสาวะ แมว ซึ่งลอยเด่นออกมาก่อนเลย แต่จากการมองด้วยสายตาก็พบว่ามีความสะอาดดี นอกจากนี้ ยังพบแมวสีส้มตัวหนึ่ง ซึ่งปีนเหล็กที่เจ้าหน้าที่ทำไว้คล้ายขั้นบันได คล้ายมาโชว์ต้อนรับแขกด้วย

นายสัตวแพทย์ วีรวุฒิ กล่าวทิ้งท้ายกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า "ตั้งแต่ทำงานกับสัตว์มาสิบกว่าปี ไม่เคยสักครั้งที่มีปัญหากับสัตว์ แต่กลับกัน ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบ มักเกิดมาจากคนสร้างมาให้มากกว่า"

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top