แชตเวลางานถูกไล่ออก แหกกฎเหล็กมนุษย์เงินเดือนโดน'ซองขาว'ไร้ค่าชดเชย

  • 11 พ.ค. 2563
  • 1917
หางาน,สมัครงาน,งาน,แชตเวลางานถูกไล่ออก แหกกฎเหล็กมนุษย์เงินเดือนโดน'ซองขาว'ไร้ค่าชดเชย

เมื่อมนุษย์เงินเดือนเอาเวลางานมาแอบแชต ล่าสุด เกิดกรณีศึกษาขึ้น เมื่อลูกจ้างรายหนึ่งถูกให้ออก หลังเจ้านายจับได้ว่าเอาเวลางานไปทำเรื่องส่วนตัว กระทั่งมีการฟ้องร้อง โดยฝ่ายลูกจ้างได้ยื่นฟ้องศาลเพื่อขอความเป็นธรรม ต่อมาศาลฎีกา ได้อ่านคำพิพากษา เลขที่ 2564/2557 โดยระบุว่า นายจ้างได้ต่อสู้ว่า โจทก์ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของนายจ้างเล่นอินเทอร์เน็ต พูดคุยในเรื่องส่วนตัว และบันทึกข้อความทางอินเทอร์เน็ตเป็นประจำเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมง ทำงานต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่สามารถทำงานตามที่มอบหมายได้ จึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างโดยชอบธรรม ขอให้ศาลยกฟ้อง และศาลก็ตัดสินยกฟ้องในที่สุด ส่งผลให้ไม่ต้องจ่ายเงินค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 มาตรา 118 มาตรา 119 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583

จากกรณีดังกล่าว "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ได้สอบถามกูรูในคดีนี้ เพื่อคลายงง ปลดเปลื้องความสงสัย แทนเหล่า "มนุษย์เงินเดือน"...บระเจ้า!! แบบนี้จะทำไง จะแชตคุยกับคนอื่นในเวลางานได้หรือไม่ หรือต้องทำไงไม่ให้ถูกไล่ออก มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ มีสิทธิอะไรบ้าง ถ้าสนใจอ่านกันได้เลย!!

นายจ้างเข้าถึงข้อมูลจากทรัพย์สินของบริษัทได้

ไขข้อสงสัย แชตในเวลางานทำได้หรือไม่ ?

อ.ณรงค์ ใจหาญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่า การแชตในเวลางานเพียงแค่นาทีเดียวไม่น่าจะทำให้เสียเวลา แต่ต้องดูพฤติการณ์และข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร อย่างในกรณีที่มีฎีกานั้น ฝ่ายลูกจ้างแชตเป็นชั่วโมงและเป็นประจำทุกวัน จึงเป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้าง

ขณะที่ นายสกุล สื่อทรงธรรม กรรมการ ANFREL และมูลนิธิองค์กรสื่อกลางเพื่อประชาธิปไตย และเป็นอดีตประธานสหภาพแรงงาน ธ.กรุงเทพ ตอบคำถามเรื่องนี้ว่า "การแชตไม่เสียหาย แต่การใช้เวลาทำงานเพื่อแชตเป็นเรื่องเสียหาย" ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายว่า ถ้าเป็นงานที่ต้องส่งออกแล้วมีเม็ดเงินมหาศาล หากช้ากว่าคู่แข่งก็จะทำให้เสียลูกค้าไป จึงเป็นผลกระทบต่อบริษัท อีกทั้งต้องขึ้นอยู่กับลักษณะของงานด้วย

ส่วนข้อถกเถียง ของ "โครงการพัฒนาผู้นำแรงงาน" จะทำอย่างไรที่ไม่ให้ตึงเกินไป หรือหย่อน จนน่าปวดหัว นายสกุล กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะการใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิตอล เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เนื่องจากหากมีเหตุ "จำเป็น" ต้องใช้จริงๆ นายจ้างก็น่าจะเข้าใจได้ 

แชตแค่ไหน ร้ายแรงถึงขั้นไล่ออก ?

นายวิรัช หวังปิติพานิช ทนายความชื่อดัง ระบุว่า การไล่ออกนั้นจะต้องมีเหตุร้ายแรง เช่น ทุจริตในหน้าที่ หรือความผิดที่เกิดผลกระทบต่อบริษัท นายจ้างไม่ต้องเตือนก็สามารถไล่ออกได้เลย แต่หากเป็นกรณีที่มาสายหรือแชตเล็กๆ น้อยๆ ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่าจะต้องมีการเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร และถ้าลูกจ้างกระทำผิดซ้ำในกรณีเดียวกันภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่มีการกระทำความผิด ในครั้งที่ 2 นายจ้างถึงจะไล่ออกได้

ส่วน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย อธิบายว่า ถ้าเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นนั้น หากพบเป็นครั้งแรกนายจ้างจะต้องมีการตักเตือน ทั้งนี้ หากเกิดขึ้นซ้ำ 2-3 ครั้งแล้วนายจ้างมีสิทธิที่จะเลิกจ้าง หรือเกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบร้ายแรงกับบริษัท ทำให้บริษัทเสียหาย แต่อย่างไรก็ตาม ต้องดูลักษณะของงานและดูกฎระเบียบข้อบังคับ รวมถึงบทลงโทษของบริษัทก่อน ซึ่งก่อนเข้าทำงานนายจ้างจะต้องแจ้งระเบียบแก่ลูกจ้างอยู่แล้ว

แบบไหนถึงจะเรียกว่าเข้าข่ายทำให้มีผลกระทบต่องาน นายสกุล สื่อทรงธรรม ให้เหตุผลว่า จะต้องดูจากข้อตกลงการจ้าง ถ้าไม่มีก็อยู่ที่ดุลพินิจของฝ่ายนายจ้างฝ่ายเดียว ตัวลูกจ้างเองก็ต้องมีข้อต่อสู้ในศาลว่าข้อเท็จจริงแล้วเป็นอย่างไร ทำไมถึงต้องแชต ต้องมีข้อต่อสู้ที่ดูแล้วเหมาะสมเป็นเหตุเป็นผล

ต้องตักเตือนกันก่อน ไม่ใช่จะมาไล่ออกกันง่ายๆ

กลับกัน...นายจ้างแชตมาสั่งงานนอกเวลา!!?

อ.ณรงค์ ใจหาญ กล่าวว่า ถ้าเกิดนอกเวลาทำงาน นายจ้างใช้งานลูกจ้างไม่ได้ กรณีที่เป็นราชการไม่ถือว่าละเมิดสิทธิ์ลูกจ้าง เพราะมีวินัยของราชการว่า "ข้าราชการต้องทุ่มเทให้กับการทำงาน" ส่วนบริษัทเอกชนต้องไปดูข้อบังคับ ระเบียบของบริษัท ว่ามีการระบุแบบนี้หรือไม่ ถ้าเกิดนายจ้างสั่งงานไม่เร่งด่วนก็ไปทำวันรุ่งขึ้นได้ แต่ว่าถ้างานเร่งด่วนจำเป็นต้องทำในขณะนั้น ก็ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาทำงานให้แก่ลูกจ้าง และต้องไปดูข้อตกลงสภาพการจ้าง ถ้านายจ้างไม่จ่ายลูกจ้างก็เลือกที่จะไม่ทำได้

ด้าน นายวิรัช หวังปิติพานิช มองอีกมุมหนึ่งว่า เมื่อนายจ้างซื้อเวลาลูกจ้าง 8 ชั่วโมง หลังจากหมดเวลางานลูกจ้างก็สามารถปิดเครื่องโทรศัพท์ได้ เพราะถือว่าหมดเวลาทำงานแล้ว ลูกจ้างไม่จำเป็นจะต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง หรือถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทำงานหลังเลิกงานนั้น นายจ้างก็จะต้องให้ค่าล่วงเวลา แต่ลูกจ้างจะมีสิทธิจะรับงานหรือไม่รับก็ได้

นายจ้างมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลที่เป็นทรัพย์สินของบริษัท นะตัวเธอว์!

อ.ณรงค์ ใจหาญ ยังกล่าวต่อว่า บริษัทสามารถเข้าไปตรวจดูได้ว่าลูกจ้างทำอะไรในคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นเครื่องของบริษัทที่มีไว้เพื่อทำงาน โดยหลักแล้วคอมพิวเตอร์ของบริษัทไม่มีสิทธิใช้ในเรื่องส่วนตัว แต่หากลูกจ้างนำเรื่องส่วนตัวเข้ามาอยู่ในการทำงานและเกิดผลกระทบต่องาน บริษัทจึงมีสิทธิที่จะรู้

ด้าน นายมนัส โกศล อธิบายไปในแนวทางเดียวกันว่า บริษัทให้ลูกจ้างใช้คอมพิวเตอร์ในฐานะที่เป็นพนักงานและสามารถเก็บบันทึกข้อมูลได้ เพราะเป็นทรัพย์สินของบริษัท หรือมีการให้รหัสมาเพื่อเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ต แต่บริษัทก็สามารถลิงก์เข้ามาดูข้อมูลได้ว่าพนักงานใช้งานอะไรบ้าง ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ขณะที่ นายวิรัช หวังปิติพานิช มองว่า การเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเป็นการละเมิดสิทธิลูกจ้าง แต่เมื่อเวลาพิสูจน์กันในศาลก็ต้องละเมิดหมด ขึ้นอยู่กับว่าพยานหลักฐานอยู่ที่ฝ่ายใด แต่นายจ้างก็สามารถอ้างได้ว่าเป็นข้อมูลลับของบริษัท เผื่อหายจะได้ดึงมาเก็บไว้ได้

แชตได้แต่ต้องพอเหมาะไม่เสียงาน

ลูกจ้างควรรู้ไว้! 6 กรณี นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 บัญญัติพฤติกรรม 6 ข้อของลูกจ้าง ที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ในกรณียกเลิกสัญญาจ้าง ดังนี้

1. ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
2. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
3. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
4. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือนหนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
5. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
6. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

หากเหล่าบรรดามนุษย์เงินเดือน มีพฤติกรรมใน 6 ข้อที่กล่าวมานี้ นายจ้างสามารถยกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างอีกด้วย

ทั้งนี้ จากคำพิพากษาในกรณีดังกล่าว อาจจะกลายเป็นมาตรฐานในการตัดสินของคดีอื่นในอนาคต เนื่องจากจะมีการอิงตามคำตัดสินของคดีก่อนหน้าที่มีความคล้ายคลึงกัน และโอกาสที่ลูกจ้างจะชนะคดี จากการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากนายจ้างที่บอกเลิกจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้า ก็เป็นไปได้ยาก.

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top