ฟังแล้วมีอึ้ง! 3 หมู่เกาะไทยจะหายไปจากแผนที่นักเดินทาง?

  • 11 พ.ค. 2563
  • 1447
หางาน,สมัครงาน,งาน,ฟังแล้วมีอึ้ง! 3 หมู่เกาะไทยจะหายไปจากแผนที่นักเดินทาง?

ไม่กี่วันที่ผ่านมาโลกโซเชียลมีเดียต้องสั่นสะเทือนอีกครั้ง กับประเด็นใหญ่ของวงการ 'การท่องเที่ยวไทย' ในตอนนี้ นั่นคือ ปรากฏการณ์ของแนวปะการังในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลของบ้านเรากำลังเสื่อมโทรมลงจนถึงจุดวิกฤติ

เมื่อ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้โพสต์ข้อความไว้ที่เฟชบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เกี่ยวกับ “วิกฤติอุทยานแห่งชาติทางทะเล” ในลักษณะของจดหมายเปิดผนึก โดยชี้ว่าตอนนี้อุทยานแห่งชาติทางทะเลของไทยเรา กำลังประสบปัญหาเสื่อมโทรม อันเกิดจากการรับนักท่องเที่ยวเกินปริมาณที่ควรจะเป็น

และ ดร.ธรณ์ ได้ยกตัวอย่าง เกาะตาชัย ขึ้นมาเพราะเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่เห็นภาพชัดเจนที่สุด โดยระบุว่า เกาะตาชัยเป็นพื้นที่ซึ่งสมควรสงวนรักษาให้เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ ควรมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด หากไม่มีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ในทันที ต่อไปในอนาคตแนวปะการังแถบนี้อาจจะตายและหายไปแบบไม่เหลือซาก แล้วก็จะไม่มีนักเดินทางมาปักหมุดท่องเที่ยวที่ทะเลไทยอีกต่อไป

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เป็น 'กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ' ก็จะหันไปเที่ยวทะเลแห่งอื่นที่สวยงามกว่า เช่น หมู่เกาะในประเทศมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย เป็นต้น

ซากปะการังตาย

ไม่ใช่แค่เกาะตาชัยเท่านั้น แต่ ดร.ธรณ์ บอกว่าอุทยานแห่งชาติทางทะเลทั้งหมด 26 แห่งในเมืองไทยก็กำลังประสบปัญหานี้เช่นกัน โดยถ้าให้จำแนกพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ เกาะและแนวปะการังในพื้นที่ของจังหวัดพังงา รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ในฝั่งทะเลอันดามัน

หากจำแนกตามพื้นที่ที่เป็นหมู่เกาะ พื้นที่ที่ประสบวิกฤติรุนแรง ได้แก่

1. เกาะตาชัย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

เมื่อพิจารณาตามการศึกษาวิจัย ไม่เคยมีแผนแม่บทอุทยานแห่งชาติ งานวิจัย หรือใดๆ ที่ระบุว่า “เกาะตาชัยเหมาะสมต่อการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่”  ในทางกลับกัน ข้อมูลสรุปตรงกันว่า เกาะตาชัยเป็นพื้นที่ซึ่งสมควรสงวนรักษาให้เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ ควรมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด แต่เอาเข้าจริงๆ กลับมีการส่งเสริมให้มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวเป็นจำนวนหลายร้อยถึงหลักพันคนต่อวัน โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

2. หมู่เกาะตะรุเตา-อาดังราวี

กรณีที่มีนักท่องเที่ยวเล่นปลานีโมที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา-อาดังราวี

3. หมู่เกาะพีพี

กรณีเรือเลี้ยงปลาทะเล ล่อปล่าเข้ามาใต้ท้องเรือให้นักท่องเที่ยวลงไปจับเล่น ที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี รวมถึงกรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติจับสัตว์น้ำมากินและมาเล่นในอุทยานแห่งชาติอีกหลายต่อหลายแห่ง ฯลฯ

หากจำแนกพื้นที่ที่เป็นแนวปะการัง 

ดร.ธรณ์ บอกว่า ปัญหาปะการังตายเกิดขึ้นทั่วบริเวณในแถบอันดามัน และจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยได้สรุปและประมวลข้อมูลมาให้ ดังนี้

1. แนวปะการัง ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามัน กำลังมีปัญหาอย่างเห็นได้ชัด ปะการังร้อยละ 25 หรือกว่านั้น อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างมาก (ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) และไม่ปรากฏว่ามีแผนการดำเนินใดๆ ที่จะฟื้นฟูหรือแก้ปัญหาเหล่านี้

2. ปัญหาของปะการังบางส่วนเกิดจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ใน พ.ศ.2553 ซึ่งในขณะนั้น กระทรวงทรัพยากรฯ ได้ออกคำสั่งให้ปิดจุดดำน้ำบางแห่งเพื่อให้ปะการังฟื้นตัว จนถึงปัจจุบัน ปะการังบางพื้นที่ยังไม่ฟื้นตัว แต่กลับมีการใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ฯลฯ

3. การจัดการด้านการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นไปตามแผนหรือยุทธศาสตร์ ทั้งที่การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์แรกคือเพื่อการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรเพื่อเป็นสมบัติของชาติ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ในอุทยานแห่งชาติทางทะเลหลายแห่ง ถูกนำไปใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างมาก จนเกิดผลกระทบจนเป็นหลายประเด็นที่ปรากฏต่อสาธารณะ

แนวปะการังที่เสื่อมโทรมถึงจุดวิกฤติ

ดร.ธรณ์ เปิดเผยอีกว่า การบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเลไทย ล้าหลังที่สุดในอาเซียนเพราะจากประสบการณ์ส่วนตัว เคยได้ไปศึกษาดูงานจากหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเห็นแล้วว่าในต่างประเทศนั้นเขามีการจัดการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทางทะเลที่ดี มีการจำกัดนักท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในเขตอุทยานมีระเบียบข้อปฏิบัติที่เคร่งครัด ชัดเจน ทำให้เขาสามารถรักษาความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของท้องทะเลของเขาไว้ได้

ต่างกับบ้านเราที่เน้นการนำเสนอขายแหล่งท่องเที่ยวอย่างไม่ระมัดระวัง ไม่มีการจำกัดนักท่องเที่ยวได้จริง รวมถึงผู้ประกอบการก็ปล่อยให้นักท่องเที่ยวเข้าใกล้สัตว์ทะเล จับเล่น ได้อย่างอำเภอใจ

ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ หากไม่รีบแก้ไขในเร็ววันก็อาจจะทำให้ความสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยหายไปจนหมดสิ้น และสำหรับภาคการท่องเที่ยวที่หวังว่าจะดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว 'กลุ่มคุณภาพ' ก็คงดูริบหรี่ ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะจาก ดร.ธรณ์ ดังนี้ 

1. ใคร่ขอเสนอให้ผู้มีอำนาจในด้านการบริหาร ผลักดันให้โครงการ “นำเสนออันดามันเป็นเขตมรดกโลก” เกิดความชัดเจน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อย และได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

โครงการปฏิรูปดังกล่าว จะมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการยกระดับการดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลให้ได้มาตรฐานโลก และทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านนี้กับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในประชาคมอาเซียน

2. ใคร่ขอเสนอให้มีการยกระดับประเด็นนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน มีการจัดสัมมนาในวงกว้าง เพื่อรวบรวมความรู้ความชำนาญและประสบการณ์จากบุคคลหลากหลาย เช่น สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ภาคประชาชน ผู้สนใจ ฯลฯ เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา

3. ใคร่ขอเสนอให้อุทยานแห่งชาติทางทะเล กระทำตามแผนแม่บทตลอดจนการวิจัยต่างๆ ด้วยการอนุรักษ์พื้นที่ซึ่งสมควรอนุรักษ์ ลดหรือหยุดการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นไปตามแผนอย่างเร่งด่วน เลิกประชาสัมพันธ์การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ซึ่งสมควรสงวนรักษาให้เป็นมรดกสำหรับคนรุ่นต่อไป

รายละเอียดต่างๆ ของพื้นที่เหล่านั้น อยู่ในแผนแม่บทของอุทยานแห่งชาติ และแผนอื่นๆ ตลอดจนงานวิจัยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น แผนจัดการระบบนิเวศแนวปะการัง (สผ.) แผนการฟื้นฟูปะการังที่เสื่อมโทรมเนื่องจากกรณีปะการังฟอกขาว (ทช.)

ความสวยงามของทะเลไทยกำลังจะเสื่อมมนต์ขลัง

4. ใคร่ขอเสนอให้มีการปรับปรุงระบบตรวจสอบและควบคุมการกระทำผิดในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล เช่น รายงานการตรวจการและจับกุม จัดทำศูนย์รับแจ้งเหตุ เปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใส พัฒนาระบบอนุญาตและการเก็บค่าธรรมเนียมในการประกอบกิจกรรมในอุทยานแห่งชาติ ฯลฯ เพื่อให้เป็นอย่างโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดูแล

5. ใคร่ขอเสนอให้ปรับปรุงการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล โดยให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านการจัดการอุทยานแห่งชาติทะเลเข้าไปมีบทบาทโดยตรง และเร่งฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง

6. ใคร่ขอเสนอให้มีการตรวจสอบกิจกรรมการท่องเที่ยวและการบริการในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน และเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและท้องถิ่น

และในส่วนท้ายของจดหมายเปิดผนึก ดร.ธรณ์ เน้นย้ำว่า สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน สามารถเรียกได้ว่า “วิกฤติการท่องเที่ยวทางทะเลในเขตอุทยาน” อย่างแท้จริง

 

ที่มาภาพ : thon.thamrongnawasawatWaran Rbj Suwanno

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top