7คนบันเทิงชัด มีแคมเปญ โฆษณา'น้ำเมา'

  • 11 พ.ค. 2563
  • 780
หางาน,สมัครงาน,งาน,7คนบันเทิงชัด มีแคมเปญ โฆษณา'น้ำเมา'

ผิดพรบ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ‘วุ้นเส้น-วีเจจ๋า-ดีเจเพ็ชรจ้า’นำ ‘หมอสมาน’ยันไม่มีมวยล้มแน่

 

สธ.เตรียมเรียกลอตแรก 10 ดาราคนดัง ทั้งมีหลักฐานชัด เอี่ยวโปรโมตเบียร์เข้าให้ข้อมูล พร้อมตั้งทีมพิเศษร่วมตำรวจสกัดปัญหาดาราชอบอ้างติดงาน รวมถึงเรียก “ต๊อด-ปิติ ภิรมย์ภักดี” ในฐานะผู้ร้องมาด้วย ด้าน “หมอสมาน” ยันงานนี้ไม่มีมวยล้ม ชี้ชัด 30 ดาราคนดังเข้าข่ายผิดมาตรา 32 พ.ร.บ.คุมน้ำเมา ส่วนกลุ่มโพสต์รูปท้ากฎหมายเอาผิดยาก แต่หากเข้าข่ายมีประโยชน์ทางการค้า ถูกจับไม่ต่างจากคนดัง ด้าน “พงศพัศ” จี้ทำเรื่องบทลงโทษชัดเจน ขณะที่นักวิชาการนิเทศศาสตร์แนะตั้งกลุ่มนักรบไซเบอร์ตามแกะรอยโฆษณาแฝงชี้เป้าจับกุม ส่วนผู้บริหารค่ายน้ำเมา ยันไม่มีนโยบายใช้ดาราและศิลปินเป็นพรีเซ็นเตอร์

เริ่มชัดเจนขึ้นกรณีดาราคนดังนับสิบรายโพสต์ภาพโชว์ขวดเบียร์ยี่ห้อหนึ่งในสื่อโซเชียลมีเดีย อาทิ อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยเมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 12 ต.ค. ที่กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุวิระ ทรงเมตตา ผู้ช่วย ผบ.ตร. พ.ต.อ.อังกูร คล้ายคลึง รอง บก.ปคบ. นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้เดินทางเข้าพบ นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดี คร. และ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมร่วมแถลงข่าวภายหลังหารือถึงการดำเนินการเอาผิดกรณีดารา นักแสดงโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้าข่ายผิดตามมาตรา 32 เกี่ยวกับการโฆษณาตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยระหว่างแถลงข่าว นพ.อัษฎางค์ได้มอบหนังสือขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับ พล.ต.อ.พงศพัศ เพื่อช่วยกันติดตามบุคคลที่เข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย

จากนั้น นพ.สมานกล่าวถึงกรณี 30 ดารานักแสดงที่โพสต์ภาพตัวเองกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 แบ่งออกเป็น 2 กรณี กรณีแรกคือ มีความชัดเจนของการโฆษณา ทำให้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความของเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ทางการค้า ถือว่าผิด ไม่จำเป็นต้องรับค่าตอบแทน แค่โพสต์ให้คนเห็นก็ผิดแล้ว ส่วนกรณีที่สอง หากมีการแย้งว่าไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ทางการค้า แต่อาจเข้าข่ายการอวดอ้างสรรพคุณและมีพฤติกรรมร่วมโดยการชักจูงให้ดื่มโดยทางตรงทางอ้อม เช่น ใช้ภาพดารา นักร้อง นักแสดง นักกีฬา มาชักจูง เพราะคนกลุ่มนี้เป็นเหมือนแม่เหล็ก แค่โพสต์ภาพก็ทำให้คนเลียนแบบ รวมไปถึงการมีข้อความจูงใจดื่มแล้วดี หรืออะไรก็ตาม เข้าข่ายผิดมาตรา 32 ทั้งหมด

นพ.สมานกล่าวอีกว่า ขั้นตอนในการดำเนินการตรวจสอบ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มฯ จะรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ จากนั้น จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ก่อนส่งสำนวนร้องทุกข์กล่าวโทษไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป จะดำเนินการโดยเร็วที่สุดภายในเดือนนี้ เชิญผู้ที่เข้าข่ายการกระทำความผิดมาให้ข้อมูล เบื้องต้นคาดว่าจะเชิญนายปิติ ภิรมย์-ภักดี มาให้ข้อมูลเป็นบุคคลแรกในฐานะผู้ร้อง เนื่องจากมีการโพสต์อินสตาแกรม หรือไอจีส่วนตัวในทำนองว่า การเอาดารา ศิลปินมาโพสต์ภาพถ่ายคู่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงเฟซบุ๊ก หรือไอจีนั้น ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เบื้องต้นคาดว่าจะส่งหนังสือเชิญภายในสัปดาห์นี้ และให้เวลาในการเดินทางมาประมาณ 7-15 วัน

นพ.สมานยังกล่าวด้วยว่า ส่วนศิลปินดารา คาดว่าในลอตแรกจะเชิญมาให้ข้อมูล 10 คน ที่มีหลักฐานชัดเจนคือ 7 ดาราในแคมเปญของเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่งที่ให้โพสต์รูปตัวเองพร้อมแฮชแท็ก (#) ชื่อแคมเปญดังกล่าว พร้อมชื่อดาราที่อยากถ่ายรูปผ่านโซเชียลมีเดีย และให้รางวัลเป็นไอโฟน จำนวน 7 คน และเจ้าของไอจี @mind_napasasi @newclear_hansa และ @domepakornlam ส่วนวุ้นเส้น-วิริฒิพา ภักดีประสงค์ และหญิงแย้-นนทพร ธีระวัฒนสุข ที่เคยเข้าให้การกับตำรวจ จะเชิญมาให้ข้อมูลซ้ำ ส่วนดารานักแสดงโพสต์รูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่รับสารภาพว่ากระทำด้วยตนเอง และขอเปรียบเทียบค่าปรับเท่านั้น กรณีนี้ก็ทำได้ ส่วนใหญ่เวลามีปัญหาลักษณะนี้ก็จะออกมาในรูปดังกล่าวตลอด แต่ในทางกลับกัน เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มฯ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถใช้ดุลพินิจได้ว่าจะให้เปรียบเทียบปรับ หรือส่งฟ้องศาล เพราะหากเป็นกรณีซ้ำซากบ่อยๆก็จะเปรียบเทียบปรับไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะไม่ใช่มวยล้มแน่นอน

นอกจากนี้ ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังอธิบายทำความเข้าใจกรณีประชาชนโพสต์รูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คงเอาผิดกลุ่มคนเหล่านี้เพราะท้าทายกฎหมายไม่ได้ และใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ก็ไม่มีอำนาจ แต่จะมีอำนาจในกรณีมาตรา 32 หากประชาชนโพสต์รูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ และมีเจตนา หรือเข้าข่าย 2 กรณีเหมือนกลุ่มดาราก็ถือว่ามีความผิด เรียกว่าหากโพสต์แล้วมีประโยชน์ทางการค้า หรือมีข้อความเชิญชวนให้ดื่มก็จะมีความผิดด้วย แต่หากไม่มีเจตนาก็ไม่ผิด อย่างไรก็ตาม จริงๆก็ไม่ควรโพสต์รูปตัวเองคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเป็นสินค้าบาป สินค้าอัปมงคล ไม่ควรโพสต์คู่ เพราะไม่ดีกับตัวเอง

“จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาจะพบปัญหาในการเชิญศิลปินดารานักแสดงเข้ามาให้ข้อมูล จะมีข้ออ้างติดถ่ายละครหรือติดงานต่างๆ จึงจะขอความร่วมมือจากตำรวจในการตั้งทีมพิเศษในการตรวจสอบพยานหลักฐานและการเชิญผู้เข้าข่ายกระทำความผิดมาให้ข้อมูล อย่างไรก็ตาม ความผิดตามมาตรา 32 จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกลุ่มบุคคลทั่วไปอาจปรับได้ตั้งแต่ 2 แสนบาท 3 แสนบาท หรือ 5 แสนบาท แต่หากเป็นธุรกิจเหล้าจะมีโทษปรับสูงสุด 5 แสนบาท ส่วนจำคุกมักเป็นรอลงอาญา” นพ.สมานกล่าว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดาราคนดัง 7 คนที่ นพ.สมานกล่าวถึงในแคมเปญของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่งนั้น ประกอบด้วย วุ้นเส้น-วิริฒิพา หญิงแย้-นนทพร วีเจจ๋า ดีเจเพ็ชรจ้า ดีเจภูมิ แจม-ชรัฐฐา และเนย-วรัฐฐา

ด้าน พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า จากการหารือร่วมกับ นพ.อัษฎางค์และ นพ.สมาน เกี่ยวกับกรณี ดังกล่าว รวมทั้งจากการติดตามข้อมูลทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียต่างๆของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า มีดารานักแสดงและผู้มีชื่อเสียงที่เข้าข่ายประมาณ 30 คน และจากข้อมูลยังพบว่าน่าจะมีมากกว่านี้อีก ส่วนกรณีที่วุ้นเส้นและหญิงแย้เข้าพบตำรวจเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นการขอเข้าพบเอง และตำรวจได้ส่งถ้อยคำให้แก่สำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นหากพิจารณา ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ถือว่าทั้งสองคนผิด แต่จะผิดลักษณะไหนก็รอทาง นพ.สมาน รวบรวมหลักฐานร่วมกับดาราอื่นๆอีกราว 30 คน

“ส่วนประชาชนทั่วไป หากมีการกระทำลักษณะดังกล่าวต้องดูว่าเข้าข่ายผิดข้อบังคับตามกฎหมายมาตรา 32 หรือไม่ ตำรวจมีหน่วยงานตรวจสอบโซเชียลมีเดียดูทุกเว็บไซต์อยู่แล้ว หากเข้าข่ายก็ถือว่าผิดเช่นกัน ดังนั้น งานนี้ไม่ได้เอาผิดแต่ดารา แต่ทุกคนทุกวิชาชีพที่เข้าข่ายผิดก็ต้องโดนหมด แต่หากไม่มีเจตนาเพื่อประโยชน์ทางการค้า ก็ไม่ต้องกังวล” พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวและว่า ได้ขอให้สำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯดำเนินการทำเรื่องบทลงโทษตามกฎหมายให้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากประชาชนทั่วไปอาจยังไม่เข้าใจถึง กฎหมายเหล้าเป็นกฎหมายจำเพาะ โดยอาจไม่รู้ว่าอะไรผิด อะไรไม่ผิด

นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน ร่วมกับเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ จัดเสวนา “ผ่าการตลาดซ่อน เงื่อนไขแฝงโฆษณาน้ำเมา...เลี่ยงหรือท้าท้ายกฎหมาย” มี นพ.สมาน ฟูตระกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ คณะนิเทศศาสตร์ ม.เกริก ผศ.ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์ มรภ.พระนคร รศ.ดร.จันทิมา เขียวแก้ว อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย และสมาชิกเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ ร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

เหล่านักวิชาการต่างเห็นตรงกันว่าประชาชนทั่วไปอาจยังรู้ไม่เท่าทันการทำการตลาด ต้องสร้างการรับรู้เรื่องกฎหมายให้ประชาชน รวมถึงเอาผิดกับผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้ ผศ.ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม กล่าวว่า การเฝ้าระวังการตลาดในรูปแบบใหม่ของธุรกิจนี้ ไม่ได้เกิดจากการกำกับดูแลของภาครัฐอย่างเดียว แต่ยังได้พลังประชาชนเป็นผู้ชี้เป้า ควรสร้างการรับรู้เรื่องกฎหมาย อะไรทำได้ อะไรไม่ควรทำ อะไรทำแล้วผิด เพราะกระแสที่เป็นอยู่ตอนนี้เพื่อปั่นอารมณ์คึกคะนอง อารมณ์เฮี้ยวและความท้าทายให้โพสต์ภาพ ดังนั้น วิธีการต้องรู้เท่าทันเพื่อให้รู้เท่าเอาไว้กัน รู้ทันเอาไว้เปิดโปงต้องตั้งคำถามตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้าน ว่ามาจากไหนเชื่อถือได้หรือไม่ ใครคือสปอนเซอร์ จะทำให้ความจริงปรากฏ กรณีนี้ประชาชนนักรบไซเบอร์ต้องช่วยกัน ใครมีเบาะแสหลักฐานที่เชื่อมโยงไปถึงธุรกิจได้ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเป็นบทเรียนจัดการไปถึงต้นน้ำเพราะศิลปินดาราเป็นเพียงปลายน้ำเท่านั้น

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.จันทิมา เขียวแก้ว ที่ระบุว่า จากการทำวิจัยโฆษณาแฝงของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่อสังคมออนไลน์ สำรวจกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาพบว่า สื่อที่มีผลทางการตลาดมาก คือเว็บไซต์ต่างๆ สติกเกอร์ไลน์แฝงโลโก้ให้ดาวน์โหลดฟรี ใช้เฟซบุ๊กเป็นตัวสื่อสาร เข้าข่ายทำการตลาดแต่ไม่เป็นข่าว วงจรโซเชียลทำให้ผู้บริโภคถูกธุรกิจน้ำเมาดึงข้อมูลและถูกจัดไว้ในกลุ่มเป้าหมายยิ่งเป็นช่วงที่มีเมนูใหม่ ธุรกิจเหล่านี้จะวางแผนแบบเซียนประกอบกับกฎหมายรัฐมีความล่าช้าไม่ทันเทคโนโลยี จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กจะรู้ทันทีว่าผลิตภัณฑ์นี้เป็นของค่ายไหน ขอเรียกร้องให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รับผิดชอบสังคม แม้ได้ยอดขายเพิ่มแต่มันไม่คุ้มกับผลกระทบด้านสุขภาพอุบัติเหตุเพราะ ไม่ต่างอะไรกับการตีหัวเข้าบ้านหรือการฉกฉวยโอกาส

ต่อมาผู้สื่อข่าวติดต่อไปยังผู้บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เพื่อสอบถามถึงการใช้ดาราคนดังมาถ่ายภาพกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย เข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 ที่ห้ามใช้บุคคลมีชื่อเสียงโฆษณาชวนเชื่อ ได้รับคำตอบจากนายเอ็ดด์มอน เนียว คิมซูน กรรม การผู้อำนวยการธุรกิจเบียร์ ประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ว่า การทำธุรกิจของบริษัทดำเนินตามกฎหมายไทยอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตามขอบเขตกฎหมายมาโดยตลอด และบริษัทไม่มีนโยบายใช้ดาราและศิลปินเป็นพรีเซ็นเตอร์ ส่วนจะดำเนินการอะไรต่อจากนี้หรือไม่ คงไม่ดำเนินการอะไร เพราะไม่เกี่ยวกับบริษัท

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top