รู้จริงไหมว่าปลาดี ต่อสุขภาพอย่างไร

  • 11 พ.ค. 2563
  • 617
หางาน,สมัครงาน,งาน,รู้จริงไหมว่าปลาดี ต่อสุขภาพอย่างไร

โลกยุคใหม่ที่การแพทย์ก้าวหน้า นวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ ถูกวิจัยและคิดค้นขึ้นตลอดเวลา คนรุ่นใหม่มีอายุยืนยาวขึ้น โรคติดต่อบางชนิดรักษาได้ บางชนิดหายไปจากโลก แต่สิ่งที่อุบัติใหม่และเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งในขณะนี้ ซึ่งส่งผลต่องบประมาณด้านการแพทย์และการรักษาในระดับที่กระทบเศรษฐกิจของประเทศก็คือ โรคเรื้อรังไม่ติดต่อ ซึ่งหลายโรคเป็นโรคทางพฤติกรรม คือเป็นโรคที่เกิดจากนิสัย วิสัย และวิถีของผู้ป่วยเอง

สภาพสังคมที่มีความแข่งขันกันในแทบทุกมิติอย่างสภาพสังคมในทุกวันนี้ ปัญหาความเร่งรีบรัดตัว เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายๆ คนกำลังเผชิญอยู่ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว คนจำนวนมากจำต้องยอมรับวิถีอันกระหืดกระหอบนี้ ให้กลายเป็นชีวิตประจำวันอย่างเลี่ยงไม่ได้ คนรุ่นใหม่จำนวนมาก ประสบกับสภาพที่ต้องรีบตื่นนอนแต่เช้า ฝ่าการจราจรอันคับคั่ง เผชิญกับมลภาวะบนท้องถนน ทำงานหนักด้วยความเครียด หนำซ้ำพฤติกรรมยังทำร้ายสุขภาพซ้ำอีกด้วยการพักผ่อนในรูปแบบที่ละเลยร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนคลายด้วยปาร์ตี้ ฉลองสังสรรค์ตอนดึก ดื่มแอลกอฮอล์ หรือเลือกกินของอร่อยปากแต่ลำบากสุขภาพประเภทฟาสต์ฟู้ด บุฟเฟต์เนื้อสัตว์ปิ้งย่างไม่อั้น อาหารฝรั่งที่เน้นแป้งกับเนื้อสัตว์ น้ำหวานน้ำอัดลมหลากรส ขนมอร่อยๆ ประเภทที่อุดมไปด้วยไขมัน น้ำตาล โซเดียม สารกันบูด ทั้งๆ ที่ในวันธรรมดาอันรีบเร่ง หลายคนเลือกที่จะกินอาหารสำเร็จรูปที่มีคุณค่าทางอาหารน้อย แต่เต็มไปด้วยสารเคมีอยู่แล้ว

แถมประเด็นสำคัญที่สุดคือ เมื่อใช้ชีวิตแบบนี้ มักจะไม่สดชื่น เพลีย จนในที่สุดก็ละเลยการกระทำสิ่งหนึ่งที่ดีที่สุดต่อร่างกายคือ “การออกกำลังกาย” ไปโดยปริยาย พฤติกรรมแบบนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นบ่อเกิดของความหายนะทางสุขภาพทั้งนั้น!

หากมีวิถีแบบนี้ ทำนายได้เลยว่า...อนาคตอันใกล้ท่านต้องเจอปัญหาด้านสุขภาพขนานใหญ่แน่นอน หรือไม่แน่...ร่างกายของท่านอาจกำลังมีปัญหาแบบที่ท่านเองก็ไม่รู้ตัวก็ได้! เพราะปัจจัย ความเครียด, การพักผ่อนไม่เพียงพอ, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, การรับประทานอาหารไม่ตรงตามเวลา, รับประทานอาหารไม่ครบทุกหมู่, รับประทานอาหารที่มีไขมัน คาร์โบไฮเดรต น้ำตาล และโซเดียมสูง รวมถึงการละเลยการออกกำลังกาย ทั้งหมดนี้เป็นพฤติกรรมอันนำไปสู่การป่วยเป็นโรคเรื้อรังไม่ติดต่อได้หลายโรค

"ความดันโลหิตสูง" นอกจากจะเกิดได้จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและการไม่ออกกำลังกายแล้ว ยังมีงานวิจัยระบุว่า ความเครียด ความวิตกกังวล เพิ่มโอกาสการมีภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า ในขณะที่ "ภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ" ก็เกิดจากความเครียดฉับพลันเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการสูบฉีดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ และในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอยู่ก่อนแล้วมีโอกาสหัวใจวายสูงขึ้น

ภัยเงียบอย่าง “โรคหลอดเลือดสมอง” ที่หากไม่ดูแลสุขภาพ จะนำไปสู่การเสียชีวิตจากเส้นเลือดสมองแตกได้นั้น ก็มีปัจจัยความเสี่ยงมากจากโรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ, โรคเบาหวาน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มีความเสี่ยงจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิด ความเครียด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และการไม่ออกกำลังกาย เข้ามาเป็นส่วนประกอบอย่างมากอีกด้วย

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ หลายท่านที่มีวิถีชีวิตแบบที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะกังวล แต่ก็นับว่าเป็นโชคดีที่ธรรมชาติได้ให้ของขวัญด้านสารอาหารที่หลากหลายผ่านรูปแบบของอาหาร และมีความจำเป็นต่อร่างกายและป้องกันความเสี่ยงด้านโรคทางพฤติกรรมหลายชนิด

ประโยชน์หลากหลายของปลา ที่คุณควรรับประทานเป็นประจำ

จะปลาเล็ก...ปลาน้อย...ปลาตัวโต หากเรารับประทานปลา ขนาดปลาทูตัวกลางๆ เป็นประจำได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ตัว ไม่จำเป็นต้องซื้อปลาแพงๆ มารับประทาน เพราะแค่ปลาสดๆ ที่วางขายในตลาดแถวบ้าน เช่น ปลาทู ปลาตะเพียน ก็มีสารอาหารเหล่านี้ครบถ้วนแล้ว โดยเลือกการปรุงอาหารแบบปลาต้มหรือปลานึ่งจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อคงคุณค่าของกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่อยู่ในเนื้อปลา ถ้าสามารถรับประทานปลาได้เป็นประจำแล้วนั้น ไม่จำเป็นเลยที่ต้องไปเลือกหาน้ำมันปลามารับประทาน แต่ถ้าทำไม่ได้ คราวนี้ละสารอาหารอย่าง “น้ำมันปลา” (Fish oil) จึงจะเข้ามามีส่วนสำคัญ ที่ควรนึกถึงเพื่อการดูแลสุขภาพ 

สำหรับประโยชน์ของกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่พบในน้ำมันปลา (Fish oil) นั้น ในทางการแพทย์พบว่า ประโยชน์ของอีพีเอ (EPA) มีส่วนช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดไขมันสูงในเลือดโดยเฉพาะไขมันไตรกลีเซอไรด์ ลดความดันโลหิตสูง ช่วยลดอาการข้อเสื่อมและการอักเสบข้อในคนไข้โรครูมาตอยด์ที่มีอาการปวดข้อ และการใช้เพื่อลดอาการคันและอักเสบในคนไข้โรคสะเก็ดเงิน ซึ่งเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีอาการอักเสบร่วมด้วย

นอกจากนี้ยังมีผลวิจัยทางการแพทย์เพิ่มเติมถึงประโยชน์ของ ดีเอชเอ (DHA) กับการพัฒนาสายตาสมอง โดยเฉพาะในส่วนของความจำ และการเรียนรู้ เพราะสาร DHA จะเข้าไปเสริมสร้างความเจริญเติบโต ของปลายประสาทที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณผ่านข้อมูลระหว่างเซลล์สมองด้วยกัน จึงมีการนำ ดีเอชเอ (DHA) ไปเสริมในนมสำหรับทารก หรือหญิงมีครรภ์ การใช้ในโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ที่พบในผู้สูงอายุ

รับประทานน้ำมันปลาอย่างไรจึงจะเหมาะสม

1. บุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพดี ทางสมาคมโรคหัวใจของสหรัฐอเมริกา (American Heart Association; AHA) ได้แนะนำการรับประทานกรดไขมันโอเมก้า-3 เพื่อการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โดยควรรับประทานน้ำมันปลา ให้ได้อย่างน้อย วันละ 500 มิลลิกรัม (ปริมาณ EPA+DHA)

2. ผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรรับประทานน้ำมันปลา ประมาณ 1,000 มิลลิกรัม/วัน (ปริมาณ EPA+DHA)

3. ผู้ป่วยที่ต้องการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ควรรับประทานน้ำมันปลา วันละ 2,000-4000 มิลลิกรัม (ปริมาณ EPA+DHA)

4. ในกรณีที่ไม่มีเวลาหาปลามารับประทาน และต้องชดเชยด้วยสารอาหารเสริม น้ำมันปลาที่ดีต้องปลอดสารพิษ คือ น้ำมันปลามาตรฐานเกรดยา ปัจจัยที่สำคัญที่ต้องคำนึงถึงสำหรับการเลือกผลิตภัณฑ์น้ำมันปลา คือ คุณภาพและความปลอดภัย เนื่องจากปัญหาส่วนใหญ่ที่พบของการบริโภคน้ำมันปลาที่ผลิตทั้งในและต่างประเทศ คือ การผลิตน้ำมันปลาภายใต้มาตรฐานอาหารทั่วไป ที่ยังไม่เข้มงวดในการผลิตมากนัก ทำให้ได้น้ำมันปลาคุณภาพต่ำ ที่มักพบสารปนเปื้อนจำพวกตะกั่ว ปรอท สารหนู และยาฆ่าแมลงเจือปน แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจไม่สามารถทราบได้ว่าน้ำมันปลายี่ห้อไหนที่จะมีมาตรฐานการผลิตที่ดี ที่แน่ใจได้ว่าปราศจากสารปนเปื้อนอย่างแท้จริง

การบริโภคน้ำมันปลาที่ผลิตภายใต้มาตรฐานยาระดับสากล จึงมีส่วนสำคัญเพื่อให้ได้คุณภาพของน้ำมันปลาที่ได้ผ่านการคัดสรรและมีขั้นตอนการผลิตที่ได้มาตรฐาน การควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอนของการผลิต จะทำให้เกิดความมั่นใจและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง 

การทำให้เราห่างไกลจากโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ ซึ่งหลายโรคเป็นโรคทางพฤติกรรมนั้น ในความเป็นจริงแล้วเพียงแค่เรามีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ให้สมดุล ดื่มน้ำสะอาด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยทำให้มีสุขภาพที่ดี และจากนั้นเรื่องความจำและสมอง ให้หมั่นคิดบ่อยๆ อ่านหนังสือ ยิ่งทำเยอะ ยิ่งดี เพื่อการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน

แหล่งข้อมูล:
• http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/qa_full.php?id=1998
• Omega-3 fatty acids, fish oil, alpha-linolenic acid [Online]. 2009 Aug 26 [cited 2010 Apr 26]. Available from: URL:

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top