#IceBucketChallengeTH ที่มาที่ไป และจุดประสงค์ของแคมเปญ

  • 11 พ.ค. 2563
  • 1079
หางาน,สมัครงาน,งาน,#IceBucketChallengeTH ที่มาที่ไป และจุดประสงค์ของแคมเปญ

สัปดาห์นี้ ข่าวที่น่าสนใจทั้งไทยและเทศคงหนีไม่พ้นแคมเปญ "เทน้ำเย็นราดตัว" หรือ Ice Bucket Challenge ซึ่งเริ่มโด่งดังมาจากต่างประเทศ มีคนดังทั้ง ดารา เศรษฐี ผู้บริหารบริษัทใหญ่ มาร่วมเล่นกันด้วยมากมาย

ฝั่งเมืองไทยเองก็ไม่น้อยหน้า กว่าคอลัมน์นี้จะเผยแพร่บนเว็บ คุณผู้อ่านก็คงทราบแล้วว่ามีแคมเปญลักษณะเดียวกันคือ #IceBucketChallengeTH ด้วย มีดารา เศรษฐี คนดัง ของประเทศไทยเข้าร่วมกันหลายท่านเช่นกัน รายละเอียดอ่านได้จากบทความที่ทีมบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์สรุปไว้ค่อนข้างดีครับ http://www.thairath.co.th/content/444109

ผมมาเขียนถึงแคมเปญนี้ก็ออกจะเขินๆ เล็กน้อย เพราะผมเป็นคนเริ่มแคมเปญเวอร์ชั่นของประเทศไทยเอง (ดูผลประโยชน์ทับซ้อน ฮ่า) แต่ไหนเลยเรื่องนี้กลายเป็นกระแสที่ดังเกินคาดแล้ว ก็อยากใช้พื้นที่ตรงนี้อธิบายที่มาที่ไปและความตั้งใจสักหน่อยครับ

แคมเปญ #ALSIceBucketChallenge เวอร์ชั่นต้นฉบับของสหรัฐอเมริกา เกิดจากความต้องการสร้างความตระหนักรู้ถึงโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) และสนับสนุนการทำงานของสมาคม ALS Association ที่เป็นศูนย์กลางวิจัยและสนับสนุนผู้ป่วยโรคนี้

แนวคิดของแคมเปญคือนำน้ำเย็นมาราดตัวเพื่อให้ "คนปกติ" ที่ถูกราดนั้นหนาวสั่น และพอจะเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วย ALS ที่กล้ามเนื้อไม่ค่อยทำงานมากขึ้น เมื่อเข้าใจความรู้สึกกันบ้างแล้ว ความเห็นอกเห็นใจก็เริ่มตามมา

ผมตีความเอาเองว่าจุดมุ่งหมายหลักของแคมเปญ #ALSIceBucketChallenge คือการเผยแพร่ข้อมูลของโรค ALS เป็นหลัก ส่วนเงินบริจาคเป็นเรื่องรองลงไป คือได้เงินมาสนับสนุนการวิจัยย่อมเป็นเรื่องดี แต่การที่สังคม (ฝรั่ง) รู้จักและเข้าใจผู้ป่วย ALS และปฏิบัติกับเขาด้วยดีเมื่อเจอผู้ป่วยเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญกว่า

ส่วนเหตุผลที่แคมเปญนี้โด่งดังในต่างประเทศคงมาจากหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น การนำน้ำเย็นมาราดตัวอาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในบ้านเรา (เล่นกันทุกสงกรานต์) แต่สำหรับฝรั่งแล้วมันเป็นของแปลกอยู่พอสมควร เมื่อบวกกับการที่แคมเปญนี้ไม่ใช่การเล่นสนุกเพียงอย่างเดียว (อย่าง "แพลงกิ้ง") แต่เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรไม่หวังผลกำไร ซึ่งไม่ใช่การสร้างประโยชน์ให้กับใครคนใดคนหนึ่ง มันจึงดึงดูดให้คนหลายกลุ่มเข้าร่วมได้ไม่ยาก

สำหรับแคมเปญของประเทศไทย ผมติดตามข่าวคนดังโลกไอทีฝรั่งเข้าร่วมแคมเปญนี้มาก่อนหน้าประมาณหนึ่งสัปดาห์ และพอคาดเดาได้ว่ามัน "มาแน่" ในบ้านเรา

คำถามคือเราจะอาศัยจังหวะความโด่งดังของแคมเปญนี้มาใช้ทำประโยชน์ต่อสาธารณะได้อย่างไร

ต้องย้อนกลับมาพูดเรื่องแนวคิดเชิงการกุศล (philanthropy) ครับ ความหมายของ "การกุศล" บ้านเรากับ philanthropy ของฝรั่งอาจไม่เหมือนกันซะทีเดียว บ้านเรามีแนวคิดเรื่องบริจาคเงินเพื่อทำบุญ หรือบริจาคเงินสร้างตึก-สนับสนุนทุนการศึกษากันมานาน ซึ่งเป็นเรื่องดีครับ

แต่ฝรั่งไปไกลกว่านั้น แนวคิดเรื่อง philanthropy ในสังคมตะวันตกไปไกลถึงการบริจาคทรัพย์สินบางส่วน (หรือบางครั้งคือเกือบทั้งหมด) เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมทางสังคมที่เป็นประโยชน์ผ่านคนหมู่มาก ไม่ใช่เป็นแค่การย้ายเงินจากผู้บริจาคไปยังผู้รับบริจาค แต่เป็นการนำเงินไปต่อยอด พัฒนา วิจัย สร้างสรรค์ โครงการที่เป็นประโยชน์อย่างระยะยาวและยั่งยืน

ตัวอย่างที่ชัดเจนของผู้นำแนวคิดด้าน philanthropy คือ บิล เกตส์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งหันมาก่อตั้งมูลนิธิหลังเกษียณอายุการทำงานที่ไมโครซอฟท์ งานของเกตส์ไม่ใช่แค่บริจาคเงิน แต่เป็นการลงไปผลักดันให้เงินของเขาถูกใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดในแง่การวิจัย การแพทย์ สาธารณสุข การศึกษา ในประเทศด้อยพัฒนาทั่วโลก

ผู้นำโลกไอทีตะวันตกมี "ธรรมเนียม" การผลักดันแนวคิด philanthropy ลักษณะนี้ในหัวข้อที่ตัวเองสนใจ เช่น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แห่งเฟซบุ๊ก ก็ก่อตั้งโครงการ Internet.org สนับสนุนให้คนด้อยโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในราคาถูกหรือฟรี, เซอร์เกย์ บริน ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล และแอนดี้ โกรฟ อดีตซีอีโอของอินเทล สนับสนุนเงินเพื่อวิจัยโรคพาร์กินสัน เป็นต้น

สำหรับรายละเอียดเรื่อง philanthropy และกิจการเพื่อสังคมในต่างประเทศ สามารถอ่านได้จากงานเขียนของคุณสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนชื่อดังที่เขียนเรื่องนี้ไว้มากมายในหลายโอกาสครับ

กลับมาที่แคมเปญ #IceBucketChallengeTH ไอเดียของผมคืออยากสนับสนุนวัฒนธรรม philanthropy ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และคิดว่าถ้าสามารถผลักดันให้คนไทย "ยินดีที่จะแสดงออก" ว่าร่วมสนับสนุนการกุศลหรือประโยชน์สาธารณะได้ยิ่งเป็นเรื่องดี จึงได้เริ่ม "เทน้ำเย็นรดตัว" และส่งต่อไปยังเพื่อนๆ ในแวดวงไอทีที่รู้จักกัน (ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะมาได้ไกลขนาดนี้)

ในเมื่อเป้าหมายคือการสนับสนุนวัฒนธรรม philanthropy ให้เกิด ไม่ใช่การสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิหรือหน่วยงานแห่งใดแห่งหนึ่ง ผมจึงคิดว่าเราควรเปิดให้ผู้เข้าร่วมแคมเปญเลือกบริจาคตามที่ตัวเองศรัทธา ซึ่งกรณีของผมเองก็สนับสนุนโครงการเพื่อสังคมใน เทใจ.คอม (taejai.com) เว็บไซต์ระดมทุนจากมวลชน (crowdfunding) ที่คัดเลือกโครงการที่น่าสนใจในประเทศไทย แล้วช่วยจัดการเรื่องระดมทุนจากผู้บริจาครายย่อยให้กับผู้ดำเนินงานในโครงการนั้นๆ

ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ถือว่าสำเร็จเกินคาดครับ มีคนดังหลายท่านร่วมบริจาคเงินสนับสนุนโครงการต่างๆ ในเว็บไซต์เทใจ (เช่น คุณสมชัย ซีอีโอ AIS) ในขณะที่คนดังท่านอื่นๆ ก็กระจายตัวไปสนับสนุนมูลนิธิหลากหลาย ไม่กระจุกตัวกันอยู่ที่เดียว ช่วยประชาสัมพันธ์กิจการของหน่วยงานเหล่านี้ในวงกว้างมากขึ้น

แคมเปญลักษณะนี้มีช่วงชีวิตค่อนข้างสั้น เป็นแคมเปญวูบวาบที่ดังระเบิดขึ้นมาและเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว ในฐานะคนเริ่มทำคนแรก (คงไม่กล้าแอบอ้างว่าเป็นเจ้าของแคมเปญแต่อย่างได้ มันเป็นของผู้ร่วมเล่นทุกคน) ก็หวังแต่ว่าเป้าหมายดั้งเดิมคือเผยแพร่วัฒนธรรม philanthropy จะยังอยู่ต่อไปคู่กับสังคมไทยให้นานๆ เท่านี้ก็พอใจแล้วครับ

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top