หุ่นยนต์กับอนาคต "งาน" และ "ค่าแรง" ผลกระทบจาก 4.0 ที่ยังไม่มีการพูดถึงในไทย

  • 11 พ.ค. 2563
  • 1948
หางาน,สมัครงาน,งาน,หุ่นยนต์กับอนาคต

ในเมืองไทยประเด็นว่าด้วยอุตสาหกรรม 4.0 ถูกพูดและพาดพิงถึงอย่างคึกคักนับตั้งแต่รัฐบาลเลือกหยิบมาใช้เป็นแนวทางการ พัฒนา แต่ในต่างประเทศโดยเฉพาะในโลกตะวันตก อุตสาหกรรม 4.0 ถูกพูดถึงมานานแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็นับตั้งแต่ปี 2013 เรื่อยมา

 

ดังนั้น ตอนที่เรากำลังเห่อ 4.0 ทางตะวันตกก็เริ่มตกอกตกใจกับ "ผลกระทบข้างเคียง" ที่อุตสาหกรรม 4.0 นำมาสู่สังคมของพวกเขา


ในปี 2013 อุตสาหกรรม 4.0 ยังไม่ถูกเรียกขานอย่างนี้ แต่ถูกเรียกง่าย ๆ ว่า "ระบบการผลิตอัตโนมัติ" โดยอาศัยหุ่นยนต์ในการผลิต ในปีนั้น "ออกซ์ฟอร์ด มาร์ติน สกูล" จัดทำรายงานฉบับหนึ่งออกมาเผยแพร่ เตือนให้ตระหนักกันเป็นครั้งแรกว่าให้ระวังแนวโน้มของการนำเอาหุ่นยนต์และ เทคโนโลยีอื่น ๆ มาใช้ในการผลิตแทนมนุษย์


รายงานดังกล่าวสำรวจ ตำแหน่งงานใน 702 หมวด สรุปเอาไว้ว่า 47% "อาจ" ถูกแทนที่ด้วยระบบการผลิตอัตโนมัติภายใน 20 ปีข้างหน้า รายงานดังกล่าวก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันไม่น้อย ส่วนใหญ่เชื่อว่าโดยธรรมชาติแล้วความมั่งคั่งที่ระบบการผลิตอัตโนมัตินำมา นั้นในที่สุดก็จะถูกนำไป "สร้างงาน" ทำให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ ๆ ขึ้นทดแทนจนแทบไม่ต้องกังวลกัน


ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานวิจัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ (เอ็นบีอีอาร์) ของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานผลการวิจัยเรื่องตำแหน่งงานกับระบบการผลิตอัตโนมัติ เขียนโดย "ดารอน อาเซโมกลู" นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ร่วมกับปาสคาล เรสเตรโป นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอสตัน


รายงานของเอ็นบีอีอาร์ ไม่เพียงสนับสนุนข้อสรุปของออกซ์ฟอร์ด มาร์ติน สกูล เท่านั้น แต่ยังเตือนด้วยว่าการสูญเสียตำแหน่งงานให้กับระบบอัตโนมัติเกิดขึ้นแล้วใน สหรัฐอเมริกา และเมื่อเสียไปแล้วก็ไม่มีสิ่งใดมาทดแทน หรือพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า ระบบการผลิตอัตโนมัติกำลังก่อให้เกิดภาวะว่างงาน "ถาวร" ขึ้นมา


ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจวิจัยของเอ็นบีอีอาร์ระบุว่า ในสหรัฐอเมริการะหว่างปี 1990-2007 การนำเอาหุ่นยนต์ 1 ตัวมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต จะส่งผลให้เกิดการสูญเสียตำแหน่งงานสำหรับมนุษย์ โดยเฉลี่ยแล้ว 6.2 ตำแหน่ง


ไม่เพียงเท่านั้น การนำเอาหุ่นยนต์มาใช้ในระบบการผลิตยังส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อค่าแรงให้ลด ต่ำลง โดยเฉลี่ยแล้ว 0.25-0.5% ในรายงานฉบับใหม่นี้ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ผลกระทบจากระบบการผลิตอัตโนมัตินั้น ส่งผลรุนแรงมากและยาวนานมาก


"ถึงแม้ในเวลาต่อมาภาวะการจ้างงานและภาวะค่าแรงโดยรวมจะกระเตื้องขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันนั้นกระบวนการนี้ก็จะทำให้มีผู้สูญเสียจากผลกระทบอยู่เสมอ และจำเป็นต้องใช้เวลานานมากสำหรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจะฟื้นตัวจาก กระบวนการดังกล่าวนี้"


เหตุผลก็คือระบบเศรษฐกิจการตลาด จะไม่ช่วยสร้างตำแหน่งงานใหม่ขึ้นมาทดแทนด้วยตัวของมันเอง แรงงานที่ตกงานไปก็จำเป็นต้องแบกรับผลกระทบต่อไปด้วยตัวเอง


ที่ผ่านมามีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์หลายคนมากออกมาแสดงความเห็นแย้งข้อสรุปทำนอง นี้ ตัวอย่างเช่น เดวิด ออเทอร์ นักเศรษฐศาสตร์ของเอ็มไอที ที่เชื่อว่าความน่ากลัวของระบบการผลิตอัตโนมัติถูกกระพือให้ใหญ่โตเกินจริง โดยไม่สนใจวัฏจักรที่สนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างการเพิ่มผลิตภาพที่นำไป สู่การเพิ่มรายได้ ซึ่งจะนำไปสู่ความต้องการแรงงานเพิ่ม


หรือกรณีของ รอส กิตทินส์ นักเศรษฐศาสตร์ออสเตรเลียที่ยืนกรานว่า เทคโนโลยีไม่ได้ "ทำลาย" ตำแหน่งงาน เพียงผลักตำแหน่งงานนั้นไปยังอีกส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจต่างหาก


แต่รายงานของอาเซโมกลูกับเรสเตรโป ซึ่งสรุปจากผลสำรวจสภาพที่เป็นจริงในสหรัฐอเมริกา กลับพบว่าในช่วงที่สำรวจ "มีหลักฐานบ่งชี้น้อยมาก" ว่ามีการสร้างตำแหน่งงานใหม่ขึ้นมาทดแทนตำแหน่งเดิม ในเวลาเดียวกันก็ "บ่งชี้ด้วยว่ามีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจำกัดมากในอุตสาหกรรมอื่น หรืออาชีวะอื่น ๆ"


ข้อที่ชวนคิดอีกประการก็คือ อาเซโมกลูกับเรสเตรโปเองยอมรับเอาไว้ว่า ก่อนที่จะศึกษาวิจัยทั้งสองคนเองก็เป็นคนที่ไม่เชื่อว่า ระบบการผลิตอัตโนมัติจะส่งผลเสียต่อแรงงานมนุษย์ เมื่อข้อมูลที่เก็บจากสภาพที่เป็นจริงแสดงออกมาเช่นนั้น ทั้งสองอดตกใจและประหลาดใจไม่ได้


สิ่งที่นักวิชาการทั้งสองตรวจสอบพบ ยังสะท้อนความเป็นจริงอีกประการด้วยว่า ระบบเศรษฐกิจและพึ่งพาอาศัยกลไกตลาดเพียงอย่างเดียวในอนาคตนั้น กำลังจะส่งผลเสียต่อสังคม รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจจำเป็นต้องตระหนักใน เรื่องนี้ แล้วเข้าไปจัดการสร้างกลไกเพื่อการสร้างงานทดแทนขึ้นให้ได้มากพอที่จะรองรับ ภาวะว่างงานของคนในอนาคตได้

นี่คือผลกระทบในทางลบของอุตสาหกรรม 4.0 ที่ยังไม่มีการพูดถึงกันในเมืองไทย

 

 

ขอบคุณภาพและข้อมูล    www.prachachat.net

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top