นายจ้างทำสัญญาเหมาจ่ายค่าโอที ลูกจ้างเซ็นไปแล้ว ยังถือว่าผิดกฎหมายไหม?

  • 04 ก.ย. 2566
  • 17817
ค่าล่วงเวลา,ค่าโอที,กฎหมายแรงงาน

ขอเหมาจ่ายค่าล่วงเวลา (โอที) โดยทำสัญญาตกลงกับลูกจ้างว่ารวมกับค่าจ้างไปเลย ไม่ต้องคำนวณตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ในเมื่อลูกจ้างเซ็นสัญญานั้นไปแล้ว จะถือว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้วนำมาบังคับใช้ได้หรือไม่ ?

 

ตอบเลยว่า ไม่ได้นะคะ สัญญาที่ขัดต่อกฎหมาย แม้จะมีการเซ็นไปแล้ว ถือเป็นโมฆะตามมาตรา 150

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรค 1 บัญญัติว่า ห้ามไม่ให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป

 

จะเห็นได้ว่า การให้ลูกจ้างยินยอมเพียงครั้งเดียวในตอนทำสัญญาเริ่มงาน ก็ไม่ถือว่าเป็นการให้ความยินยอมเป็นคราว ๆ ไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย การทำสัญญาเหมารวมค่าจ้างและค่าล่วงเวลาจึงไม่ถูกต้อง เพราะจะไม่ทราบเลยว่า ฐานค่าจ้างคือเท่าไร และเมื่อมีการทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด หรือการจ่ายค่าชดเชยเมื่อมีการเลิกจ้าง จะคำนวณอัตราค่าจ้างต่อวันอย่างไร และยังเป็นการเอาเปรียบลูกจ้างที่ต้องผูกมัดให้ทำงานล่วงเวลาตลอดไป

 

อย่างไรแล้ว เมื่อชั่วโมงการทำงานในแต่ละสัปดาห์เกินกว่า 48 ชม. ต้องถือว่าเวลาทำงานที่เกินแต่ละวัน เป็นการทำงานล่วงเวลา ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าล่วงเวลา โดยใช้ฐานเงินเดือนมาคำนวณอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง

 

สำหรับลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าล่วงเวลาตามอัตราที่กฎหมายกำหนด อายุความจะอยู่ที่ 2 ปีนะคะ สามาถร้องเรียนได้ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่ทำงาน / สะดวกยื่นคำร้อง หรือโทร 1506 กด 3 หรือ 1546

 

ขอบคุณข้อมูล : หนังสือ ถาม - ตอบ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน 100 ข้อ คุณเชิดศักดิ์ กำปั่นทอง

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top