ติดอาวุธความคิด ผุดไอเดียนวัตกรรม

  • 11 พ.ค. 2563
  • 782
หางาน,สมัครงาน,งาน,ติดอาวุธความคิด ผุดไอเดียนวัตกรรม

ประเทศ...ที่จะก้าวหน้าไปได้ไกล คือ ใช้นวัตกรรม ขับเคลื่อน เพิ่มความคิดสร้างสรรค์มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ “สินค้า” และ “บริการ”

ในยุคต่อไป ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มองว่า ถ้าไม่มีวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมคงพัฒนาประเทศไปไม่ได้มาก เนื่องจากไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแรงงานขั้นต่ำและทรัพยากรเหมือนเดิมได้อีก

ที่เหลือ...คงต้องเน้นเรื่อง “คน” ที่ต้องติดอาวุธด้านความคิด ความสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “นวัตกรรม” ซึ่งรวมถึง “วิทยาศาสตร์” ด้วย

ประเทศไทยต้องก้าวไปสู่สังคมนวัตกรรม ซึ่งได้เขียนไว้ในนโยบายรัฐบาลข้อ 8.2 โดยมีความสำคัญในภาคเศรษฐกิจที่จะมีการแข่งขันกันสูงขึ้น มีความรุนแรงมากขึ้น...ประเทศที่ไปได้ไกลจะใช้นวัตกรรมขับเคลื่อน

“เรามีระบบเศรษฐกิจที่ต้องออกจากกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ก้าวข้ามให้ไปอยู่ในกลุ่มของประเทศที่พัฒนาแล้ว ให้มีรายได้ ความเป็นอยู่ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรัฐบาลนี้ ประกอบด้วยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการวิจัย ที่ชัดเจน...เชื่อมโยงโครงการต่างๆของทุกหน่วยงานให้เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ตอบรับนโยบายรัฐบาลที่จะออกแรง เพื่อให้คนและหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ...เอกชนหันหน้ามาทำงานร่วมกัน

วางแนวทางเพื่อที่จะสร้างรากฐานให้กับการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในระยะยาวให้เกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน รวมทั้งวางแนวทางด้านกฎหมาย สร้างรากฐาน หลักปฏิบัติในรัฐบาลชุดต่อๆไป

การพัฒนาระบบการเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก สร้างให้เกิดการกระหายในการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ สมมติฐานของผม “เด็กไทยเก่งทุกคน”

แต่อาจจะเก่งคนละแบบ แต่มาตรฐานของสังคมในการวัดผลเหมือนกันหมด ควรจะต้องปรับวิธีคิดในการวัดผล แต่เราสร้างโอกาสให้เด็กไทยได้โอกาสในการเรียนรู้เท่าเทียมกันได้

การสร้างโอกาสในการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม คงต้องให้เอกชนร่วมมือด้วย กิจกรรม “NASA–A Human Adventure” ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2557-1 กุมภาพันธ์ 2558 ณ ห้องบางกอก คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว...เป็นหนึ่งในกิจกรรมเล็กๆที่จะช่วยจุดประกายความคิดให้กับเยาวชน ผู้คนในสังคม

โอกาสที่เด็กจะได้เจอกับ “ชาร์ลส์ ดุ๊ค” นักบินอวกาศยานอพอลโลที่ 16 จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ถ้ามีแรงบันดาลใจแล้วก็จะอยากทำเอง ไม่ต้องไปบังคับ เขาจะไปของเขาเอง

“แรงบันดาลใจในการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ของผมคือ อยากให้สังคมดีขึ้น” ดร.พิเชฐ ว่า

วิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะเจ้าของโครงการ บอกว่า เราได้เชิญ “ชาร์ลส์ ดุ๊ค” นักบินอวกาศยานอพอลโลที่ 16 ชายผู้เหยียบดวงจันทร์ในปี 1972 ตัวจริง...เสียงจริงมาร่วมแชร์ประสบการณ์การเดินทางไปนอกโลก ว่าเขาต้องพบกับเหตุการณ์อันไม่คาดคิดอะไรบ้าง ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวัน การดูแลสุขภาพบนยานอวกาศว่าเป็นอย่างไร

เพื่อมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทย ให้คนไทยได้เห็นการก้าวข้ามศักยภาพของมนุษย์ในมุมที่ต่างกันออกไป ภายใต้แนวคิด...“การก้าวข้ามขีดจำกัดศักยภาพของมนุษย์”

“ศักยภาพของมนุษย์นั้นสร้างได้ ขอเพียงมีความเชื่อก่อนว่าไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ แม้กระทั่งการออกไปใช้ชีวิตอยู่นอกโลก ซึ่งไร้แรงโน้มถ่วงก็มีคนที่ทำมาแล้ว อย่างกรณีของ ชาร์ลส์ ดุ๊ค”

ชาร์ลส์ ดุ๊ค กล่าวไว้ว่า ผมเชื่อว่า อพอลโล 8 เป็นมิชชั่นที่อันตรายที่สุดสำหรับเรา เพราะเป็นครั้งแรกที่มีมนุษย์ออกเดินทางพร้อมยานอวกาศที่ไม่เคยทำหน้าที่นี้มาก่อน และเราไม่มีแผนสำรองหากเครื่องยนต์ขัดข้องอยู่บนดวงจันทร์ การเดินทางด้วยยานอพอลโลมีความเสี่ยงทุกครั้ง

ทีมนักบินอวกาศทุกคนต่างรู้และยอมรับความเสี่ยงนั้น เราจึงฝึกฝนให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แม้รู้ว่าเราอาจต้องรับมือกับอะไรสักอย่างที่ไม่อาจรู้ได้ หรือไม่...ก็อาจต้องอยู่บนดวงจันทร์ตลอดไป

“ศักยภาพของมนุษย์ถูกท้าทายได้ทุกเวลาบนยานอพอลโล เราจึงต้องวางแผนการเดินทางอย่างละเอียด นับเป็นนาทีพยายามจำลองทุกภาพเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น…

แต่การเดินทางทุกไฟลท์กลับมีสิ่งที่เราไม่ได้คาดการณ์เกิดขึ้น ซึ่งเราเอาชนะทุกเหตุการณ์มาได้...เพราะเรารู้จริง และผ่านการฝึกฝนที่เหนือชั้น”

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ แห่งชาติ ผู้มีส่วนผลักดันให้เกิดหอดูดาวแห่งชาติที่ดอยอินทนนท์ เสริมว่า วัยเด็กเป็นวัยที่เราจะตื่นเต้นกับสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และถ้าเราได้รับการสนับสนุนจะทำให้เราไปได้ไกล สำหรับผมดาราศาสตร์เริ่มต้นมาจากงานอดิเรก จนกลายเป็นอาชีพ

ตอนเด็กๆ ได้เห็นดาวเสาร์ผ่านกล้องดูดาวขนาดเล็กด้วยตัวเองโดยบังเอิญในกรุงเทพฯ เนื่องจากสมัยก่อนฟ้ากรุงเทพฯไม่ได้เป็นแบบนี้ ตึกสูงก็ไม่มีแบบนี้ ก็เกือบๆ 40 ปีที่แล้ว

“การเรียนทางวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียน การทดลองทางวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในห้องแล็บ กระบวนการคิดและการใช้เหตุผลคือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์”

โรงเรียนต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก ไม่ใช่ว่าครูสั่งให้เชื่อ การเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญและจะเกิดขึ้นตลอดชีวิต ปัญหามีว่า...เด็กไทยไม่กล้าคิด แล้วเวลาที่เราต้องสอนอย่างบูรณาการก็ผิดหลัก

การบูรณาการต้องสร้างตั้งแต่เด็ก ในประเทศที่มีการศึกษาอย่างก้าวหน้า...จะไม่ได้เน้นเรื่องเนื้อหา แต่เด็กจะสามารถเชื่อมโยงความรู้ได้เอง

ดร.ศรัณย์ ย้ำว่า วิทยาศาสตร์มีความสำคัญ ชีวิตเราสุขสบายมากขึ้น มีความเจริญทางด้านวัตถุมากขึ้น ล้วนมาจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่นำมาใช้ในการพัฒนาแทบทั้งสิ้น

“การวิจัยก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสาขาอะไร เราทิ้งไม่ได้ เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นแบบสามเหลี่ยม ถ้าพื้นฐานไม่แข็งแกร่ง ยอดข้างบนก็ต่อขึ้นไปไม่ได้”

คำว่า “วิทยาศาสตร์” ความหมายแท้ๆ คือ “องค์ความรู้”...หมายถึงความรู้ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ วิทยาศาสตร์คือความรู้ แต่ว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์นี่สำคัญมากคือการที่ใช้เหตุและผล...

เมื่อมีอะไรที่อธิบายได้ดีกว่าสิ่งเก่าๆ ทฤษฎีเก่าก็จะถูกล้มล้างไป ผมคิดว่าเป็นหลักการที่ควรจะใช้ขับเคลื่อนสังคม….

เพราะใช้ “เหตุ” กับ “ผล” ไม่ได้ใช้ความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง

“ถ้าเราใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการขับเคลื่อนสังคม ประเทศเราจะเจริญขึ้น...คุยกันได้ คิดแบบเป็นเหตุเป็นผลโดยใช้ความรู้มาช่วยในการตัดสินใจว่าสิ่งนี้ถูกต้องหรือไม่”.

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top