กฎหมายใหม่งาช้าง เซียนเครื่องรางโวย

  • 11 พ.ค. 2563
  • 5547
หางาน,สมัครงาน,งาน,กฎหมายใหม่งาช้าง เซียนเครื่องรางโวย

หลายคนอาจยังไม่ทราบ ทุกวันนี้การมีงาช้าง หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างไว้ในครอบครอง กฎหมายกำหนดให้ต้องแจ้งการครอบครองต่อเจ้าหน้าที่ ผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท

งาช้าง หรือสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า Ivory ก็คือ ฟันเขี้ยวคู่หน้าของช้าง ซึ่งงอกออกมาจากขากรรไกรบนของช้าง ข้างละอันนั่นเอง ช้างแต่ละเชือกจะปรากฏงาให้เห็น ก็ต่อเมื่อช้างเชือกนั้น มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป

ตามคติความเชื่อของคนไทยและอีกหลายชนชาติ ถือว่างาช้างเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และเป็นมงคล มีความหมายถึงการที่ผู้ได้ครอบครองมีพลังอำนาจเพิ่มขึ้น ช่วยให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรค และมีชัยเหนือศัตรู จึงมักมีการนำงาช้างไปประดับตามโต๊ะหมู่บูชา ห้องรับแขก หรือไม่ก็นำไปแกะสลักทำเป็นเครื่องประดับ หรือเครื่องรางของขลัง เพื่อสวมใส่หรือพกไว้ติดตัว

แต่ล่าสุดการมีงาช้างไว้ในครอบครอง อาจสร้างปัญหาที่คาดไม่ถึงให้แก่ผู้เป็นเจ้าของได้

เพราะตามพระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ.2558 ซึ่งเพิ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.2558 เป็นต้นไป


กำหนดให้ผู้ที่ ครอบครองงาช้างบ้าน (ปัจจุบันเมืองไทยมีช้างบ้าน หรือช้างเลี้ยงประมาณ 4,000 เชือก และมีช้างในป่าอีกราว 3,700 ตัว) และ ผลิตภัณฑ์จากงาช้างบ้าน รวมทั้ง ผู้ค้างาช้างบ้าน ต้องไปจดทะเบียนการครอบครอง และขออนุญาตค้างาช้างบ้านกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยมีหลักเกณฑ์ว่า

สำหรับ ประชาชนทั่วไป ที่มีงาช้าง รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างไว้ในครอบครอง เช่น เจ้าของสร้อย กำไล แหวน เครื่องรางของขลัง หรือเครื่องประดับต่างๆ ซึ่งทำมาจากงาช้าง จะต้องไปแจ้งการครอบครองต่อเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

โดยใน กทม.สามารถแจ้งได้ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ บางเขน ต่างจังหวัดแจ้งได้ที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์สาขาทุกสาขา

ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้ต้องแจ้งการมีไว้ในครอบครอง ภายในไม่เกินวันที่ 21 เม.ย.2558 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกเอกสารการครอบครองงาช้างดังกล่าว

ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท

ในกรณีที่ภายหลังมีการตรวจพบ หรือมีเหตุอันควรสงสัยจากที่ได้รับแจ้งการครอบครองว่างาช้างนั้น มิใช่งาช้างตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ

กล่าวคือ อาจเป็นงาช้างป่า หรืองาช้างจากแอฟริกา อธิบดีฯอาจมีคำสั่งให้ผู้ครอบครองนำเอกสาร หรือหลักฐานมาพิสูจน์ได้

แต่หากเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่างาช้างในความครอบครองเป็นงาช้างที่ได้มาจากช้างที่เป็นสัตว์พาหนะ

กล่าวคือ ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ แสดงว่าอาจจะเป็นงาช้างป่า หรือไม่ก็อาจเป็นงาช้างแอฟริกา กรณีเช่นนี้ ให้งาช้างนั้นตกเป็นของแผ่นดิน และให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองส่งมอบงาช้างนั้นให้แก่กรมอุทยานฯ ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งจากอธิบดีฯ

นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดว่า กรณีมีงาช้างไว้ในครอบครอง โดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า อาจใช้สิทธิ์ไม่ต้องแจ้งการครอบครองได้ แต่กรณีนี้กฎหมายอนุญาตให้ครอบครองงาช้างได้รวมคนละไม่เกิน 4 ชิ้น และไม่เกิน 12 ชิ้นต่อครัวเรือน โดยน้ำหนักรวมกันจะต้องไม่เกิน 0.5 กิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ไม่ได้แจ้งการครอบครองจะส่งผลให้ ไม่สามารถจำหน่าย จ่าย โอน หรือ นำงาช้างที่ครอบครองไปทำการค้าได้ ยกเว้น กรณีที่ได้รับตกทอดทางมรดก แต่ผู้รับมรดกจะต้องครอบครองไว้ไม่เกินจำนวนดังกล่าวด้วย

เหตุผลที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการค้า การครอบครอง นําเข้า ส่งออก และการนําผ่านซึ่งงาช้าง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทําจากงาช้าง ตามกฎหมายว่าด้วย การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า อยู่แล้ว

แต่ยังขาดกฎหมายควบคุมการค้า ครอบครอง นําเข้า ส่งออก และการนําผ่านซึ่งงาช้าง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทําจากงาช้าง ตามกฎหมายว่าด้วย สัตว์พาหนะ (ควบคุมช้างที่คนนำมาเลี้ยง)

จึงเป็นเหตุให้มีการนําช้างป่า ตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ไปสวมสิทธิ์และจดทะเบียนเป็นสัตว์พาหนะ (ช้างเลี้ยงหรือช้างบ้าน) เพื่อตัดงาช้างขาย รวมทั้ง มีการลักลอบนําเข้างาช้างจากแอฟริกา เพื่อนํามาค้า หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทําจากงาช้าง

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) จึงมีพันธกรณีให้ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญา

อนุสัญญาไซเตสกําหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีมาตรการควบคุมการค้า การครอบครอง การนําเข้า ส่งออก และการนําผ่านซึ่งงาช้าง หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากการแปรรูปงาช้างภายในประเทศ มิให้ปะปนกับงาช้างที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย

หากประเทศไทยยังไม่เร่งดำเนินการตามพันธกรณีให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนมีนาคม 2558 วงในลือกันว่าอาจทำให้สินค้าจำพวกหนังจระเข้ กล้วยไม้ กิ้งก่า หนังงู และนกแก้วของไทย ถูกคว่ำบาตรทางการค้าจาก CITES ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 47,000 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องตรากฎหมายนี้

แม้ว่าเจตนารมณ์ในการออกกฎหมาย เพื่อต้องการสกัดการล่าช้างเพื่อเอางา เป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญ แต่หลายคนกลับเห็นว่าตัวบทกฎหมายที่ออกมาในภาวะเร่งรีบ ให้มีการบังคับใช้ไปก่อนค่อยไป

ปรับแก้ภายหลังเช่นนี้ อาจเกิดช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคนนำไปแสวงหาผลประโยชน์ จนกลายเป็นปัญหาตามมา

“ดูก็รู้ว่ากฎหมายฉบับนี้ออกมาแบบลวกๆ ไม่ได้แยกแยะว่าเป็นงาช้างเก่าหรือใหม่ การโยนภาระให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง ไปหาที่มาเพื่อชี้แจงเป็นหลักฐาน ก็ไม่ระบุให้ชัดว่าต้องทำยังไง บางคนครอบครองมานานหลายปี จะมีปัญญาไปตามหาเจ้าของเดิมที่ซื้อต่อ หรือได้รับมาได้อย่างไร” แหล่งข่าวรายแรกให้ความเห็น

แหล่งข่าวอีกราย เป็นเซียนนักสะสมเครื่องรางของขลังจำพวกเขี้ยว-งา สะท้อนมุมมองว่า

“วัตถุมงคลทำจากงาช้าง เป็นของทรงคุณค่าที่ครูบาอาจารย์ยุคเก่าทำไว้ให้ลูกศิษย์ด้วยความรัก จู่ๆวันนี้กลับกลายเป็นของที่ให้ใครก็ไม่รู้มาชี้ขาดตัดสินว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย คนที่ศรัทธามีสะสมไว้จำนวนมากจะทำยังไง คุณไปกำหนดให้เขาต้องมีไว้ในครอบครองคนละเท่านั้นเท่านี้ชิ้น มีเกินกว่านั้นถือว่าผิด อยากจะแบ่งให้ใครเช่าไปบูชา ไม่ขออนุญาตก่อนก็ไม่ได้ ผิดอีก กฎหมายแบบนี้มันเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่หากินกันชัดๆ”

“อย่าลืมว่าทุกวันนี้มีนักสะสมเชิงอนุรักษ์เครื่องรางจำพวกเขี้ยว งา นับแสนราย บางคนมีหลายสิบชิ้น สมมติว่า พอแก่ตัวแล้วลูกหลานไม่สนใจจะสืบทอด อยากแบ่งขายให้คนที่ต้องการก็ไม่ได้ เพราะต้องไปขออนุญาตก่อน ไม่งั้นเจอคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท ค่าใบอนุญาตให้ขายงาช้างได้ ฉบับละ 50,000 บาท บ้ามั้ยล่ะ” แหล่งข่าวรายที่สาม ทิ้งท้ายไว้ให้คิด.

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top