เม็ดเงินมหาศาลวงการคอซอง-ขาสั้น ส่องค่าใช้จ่ายต้อนรับเปิดเทอม

  • 11 พ.ค. 2563
  • 2791
หางาน,สมัครงาน,งาน,เม็ดเงินมหาศาลวงการคอซอง-ขาสั้น ส่องค่าใช้จ่ายต้อนรับเปิดเทอม

เริ่มต้นฤดูกาลเปิดภาคเรียน หลังปิดเทอมภาคฤดูร้อนนานกว่า 3 เดือน นักเรียน ผู้ปกครอง ต่างขะมักเขม้นหาที่เรียนให้แก่บุตรหลาน อีกทั้งยังต้องเตรียมรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นด้วย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอสำรวจค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมที่ผู้ปกครองต้องเสีย โดยจะแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ โรงเรียนรัฐบาลระดับธรรมดา โรงเรียนรัฐบาลที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และโรงเรียนเอกชนชื่อดัง ส่วนค่าใช้จ่ายจะมากน้อยแค่ไหนนั้น ไปติดตามกันได้ข้างล่าง…

ผู้ปกครองพาบุตรหลานมาเลือกซื้อชุดนักเรียน

กว่าจะได้เข้ามาเรียนผู้ปกครองต้องใช้เงินพอสมควร

ร.ร.รัฐบาลระดับธรรมดา จ่ายประมาณ 5,000-8,000 บาท

คุณครู (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ) จากโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว ให้ข้อมูลค่าใช้จ่ายของทางโรงเรียนดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย เครื่องแบบนักเรียน ประกอบด้วย ชุดนักเรียน, ชุดลูกเสือ-เนตรนารี, ชุดพละ, รองเท้านักเรียน, รองเท้าพละ, รองเท้าลูกเสือ, ถุงเท้า, กระเป๋าของโรงเรียน รวมทั้งสิ้น ประมาณ 3,000-6,000 บาท ค่าเทอม ประกอบด้วย ค่าบำรุงการศึกษา, ประกันอุบัติเหตุ, ตรวจสุขภาพ, วารสารโรงเรียน, ค่าจ้างครูต่างประเทศ ประมาณ 2,500 บาท ค่าสมาคมผู้ปกครองและครู 500 บาท

ทั้งนี้ ผู้ปกครองจะได้เงินเรียนฟรีจากรัฐบาล เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย โดยได้ค่าชุดนักเรียน ม.ต้น 450 บาท ม.ปลาย 500 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน ม.ต้น 210 บาท ม.ปลาย 230 บาท ซึ่งผู้ปกครองสามารถนำใบเสร็จมาเบิกกับทางโรงเรียน

อย่างไรก็ตาม เด็กคนใดที่ยังไม่มีที่เรียน และต้องการมาเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้อาจต้องใส่ซองบริจาคเงินให้กับทางโรงเรียนประมาณ 500 บาทขึ้นไป

เลือกชุดนักเรียนรับเปิดเทอม

ร.ร.รัฐชื่อดัง จ่าย 5,000-30,000 บาท

ด้าน นักเรียน ม.4 โรงเรียนชื่อดังย่านบึงกุ่ม เปิดเผยกับทีมข่าวฯ ว่า สำหรับค่าเทอมของโรงเรียนแห่งนี้ จะแบ่งเป็น ม.ต้น ห้องธรรมดา จ่ายแค่ค่าบำรุงการศึกษา 2,900 บาท/เทอม และห้องเรียนแบบหลักสูตรภาคอังกฤษ (EP) 30,000 บาท/เทอม ส่วน ม.ปลาย จ่ายแค่ค่าบำรุงการศึกษา 2,900 บาท/เทอม เช่นกัน แต่ห้องเรียนแบบหลักสูตรภาคอังกฤษ (EP) 10,000 บาท/เทอม นอกจากนี้ จะมีค่าสมาคมผู้ปกครอง ซึ่งก็แล้วแต่ว่าพ่อแม่จะบริจาคให้กับโรงเรียนเท่าไร

สำหรับเครื่องแบบนักเรียน ม.ปลาย ประกอบด้วย ชุดนักเรียน, ชุดพละ, รองเท้านักเรียน, ถุงเท้า, ชุดรักษาดินแดน (รด.) รวมทั้งสิ้น ประมาณ 4,000 บาท ส่วนกระเป๋าใช้ของโรงเรียน ราคา 290 บาท

รองเท้าใหม่ต้อนรับเปิดเทอมใหม่

ร.ร.เอกชนชื่อดัง ผู้ปกครองควักจ่ายกว่าแสน !

ขณะที่ นักเรียน ม.6 โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งย่านธนบุรี ให้ข้อมูลค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียให้กับทางโรงเรียนของตนเอง ประกอบด้วย ค่าเทอม ม.ต้น 20,000 บาท ม.ปลาย สายวิทย์ 22,000 บาท/เทอม สายศิลป์ 24,000 บาท/เทอม มีหลักสูตรภาคอังกฤษ (EP) 40,000-50,000 บาท/เทอม ค่าสมาคมผู้ปกครองและครู จ่ายเฉลี่ย 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมีค่าแป๊ะเจี๊ยะที่ต้องจ่ายขั้นต่ำ 100,000 บาท ถ้าโรงเรียนมีโครงการจะสร้างอะไรก็ตาม ค่าแป๊ะเจี๊ยะจะแพงขึ้น หรือ หากนักเรียนเก่า ม.ต้น สอบเข้า ม.ปลาย ไม่ผ่านจะต้องจ่ายเกือบ 20,000-30,000 บาท เพื่อให้ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเดิมด้วย

“ที่โรงเรียนมีให้บังคับนักเรียนลงเรียนซัมเมอร์คอร์ส ซึ่งต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ถ้านักเรียนคนไหนไม่ลงเรียนจะถูกบังคับให้ลงเรียนหลังเลิกเรียน และปัจจุบันโรงเรียนเปลี่ยนการเช็กชื่อตอนเช้าของนักเรียนมาเป็นระบบสแกนนิ้ว ถ้ามาสายจะถูกปรับเป็นเงิน ถ้ามาสายบ่อยทางอาจารย์จะเชิญผู้ปกครองเข้าพบ ส่วนโรงอาหารมีปัญหาเรื่องค่าอาหารแพง แล้วอุปกรณ์สภาพไม่ดี” นักเรียน ม.6 โรงเรียนชื่อดัง กล่าว

เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก

ผู้ปกครองภาระลดลง หลังได้เงินเรียนฟรีจากรัฐบาล

นางรจนา มีวรรณ์ อายุ 50 ปี อาชีพรับจ้างบริษัทเอกชน เผยว่า ปัจจุบันนี้ทางครอบครัวไม่ค่อยลำบากเรื่องการใช้จ่ายในการเรียนของลูกๆ เนื่องจากได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลค่าเครื่องแบบนักเรียน เงินเรียนฟรี จึงเสียแค่ค่าบำรุง 3,000 บาท สำหรับโรงเรียนรัฐบาล และจะมีค่าบริจาค ซึ่งผู้ปกครองสามารถจะบริจาคให้โรงเรียนเท่าไรก็ได้ ส่วนเด็กที่เข้า ม.1 หรือ ม.4 แนะนำว่าจะต้องมีเงินอย่างน้อย 10,000 บาท เพราะจะมีค่าเรียนปรับพื้นฐาน เพิ่มอีกประมาณ 2,000 บาทอีกด้วย

ทั้งนี้ เคยคิดอยากฝากลูกเข้าโรงเรียนรัฐมีชื่อแถวบ้านเหมือนเช่นคนอื่น แต่ทราบมาว่าจะต้องบริจาคเงินให้กับทางโรงเรียนอย่างน้อย 100,000 บาท จึงจะมีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือก ขณะที่โรงเรียนอันดับต้นๆ ของประเทศก็ต้องจ่ายเกือบล้านเช่นกัน ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ได้ฝากเพราะไม่มีเงินมากพอ แม้จะอยากให้ลูกเรียนโรงเรียนดีๆ ก็ตาม 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงค่าใช้จ่ายโดยประมาณของโรงเรียนทั้ง 3 ประเภท ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงเรียน ค่าเรียนพิเศษ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ผู้ปกครองต้องควักกระเป๋าสตางค์จ่ายให้บุตรหลานอีกจำนวนมาก เพื่อความรู้และชีวิตการเรียนที่ดี.

 

ที่มา :  ไทยรัฐออนไลน์ 

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top