ไทยพลิกวิกฤติ ปลดล็อกใบเหลืองอียู จัดระเบียบประมงอย่างยั่งยืน

  • 11 พ.ค. 2563
  • 1694
หางาน,สมัครงาน,งาน,ไทยพลิกวิกฤติ ปลดล็อกใบเหลืองอียู จัดระเบียบประมงอย่างยั่งยืน

ตุลาคม 58 ชี้ชะตาการส่งออกอาหารทะเลไทยไปอียู เวลาที่เหลือคือการตัดสินว่า ไทยจะรอด หรือไทยจะได้ "ใบแดง" หากถูกกีดกันทางการค้า อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมง อย่างน้อยปีละ 30,000 ล้านบาท

ปัญหาประมงไทย ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขอยู่ในขณะนี้ หลังจากที่สหภาพยุโรป หรือ EU ประกาศเตือนให้ใบเหลืองกับสินค้าประมงไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 โดยให้เหตุผลว่า ประเทศไทยมีความล้มเหลวต่อการควบคุมประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนทางท้องทะเล และให้เวลา 6 เดือนในการแก้ไขปัญหา ชะตาการส่งออกสินค้าประมงไทยจะเป็นอย่างไร ไทยจะสามารถปลดล็อกใบเหลืองอียูได้หรือไม่ แล้วอะไรคือทางออกที่แท้จริง ต้องติดตาม!!

นางสาวอัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยข้อมูลกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ว่า สาเหตุที่มาของใบเหลืองนี้ สืบเนื่องมาจากปี 2554 อียูส่งตัวแทนมาตรวจสอบการควบคุมประมงผิดกฎหมายในประเทศไทย เพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ไทยไม่ได้มีการปรับปรุงแผนการจัดการที่นำไปสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมได้ อียูจึงพิจารณาให้ประเทศไทยเป็นประเทศ ที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU)

ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พร้อมกำหนด ให้เวลาไทย 6 เดือน แก้ไขปัญหาดังกล่าว ก่อนจะประเมินอีกรอบในเดือนตุลาคม 2558 เพื่อต้องการเห็นถึงความคืบหน้าที่จะรับประกันได้ว่า สินค้าสัตว์น้ำที่ส่งออกไป EU ปลอดจากการประมงที่ผิดกฎหมาย หรือทำลายล้าง ซึ่งหาก 6 เดือนนี้ไทยยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ จะพิจารณาให้โดนใบแดง นั่นก็คือ ห้ามนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบอุตสาหกรรมการส่งออกอาหารทะเลในระยะยาว

สำหรับสาระสำคัญของใบเหลือง คือ อียูต้องการเห็นถึงการจัดการที่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงอย่างยั่งยืน ด้วยการมีส่วนร่วมในชุมชนที่เพิ่มมากขึ้น และจะต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าสัตว์น้ำที่จับมานั้นไม่เกี่ยวข้องกับประมงผิดกฎหมาย
 
ประมงไทย ไร้ความรับผิดชอบ จริงหรือ ?
 
นางสาวอัญชลี กล่าวต่อว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการทำประมงผิดกฎหมายในประเทศไทย มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การทำประมงที่ใช้เครื่องมือทำลายล้าง ใช้ขนาดตาอวนที่เล็กกว่ากฎหมายกำหนด ในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งหรือเขตอนุรักษ์ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ (ป่าชายเลน แนวปะการัง) หรือลักลอบจับสัตว์น้ำในฤดูที่ห้ามทำการประมง

เรือประมงพาณิชย์จอดเทียบท่า ภาพถ่ายโดย : จันทร์กลาง กันทอง/กรีนพีซ

จากการรายงานของชาวประมงพื้นบ้าน จ.สตูล ทราบว่า บริเวณฝั่งทะเลอันดามันมีเรือพาณิชย์ลักลอบทำประมงในช่วงฤดูปิดอ่าวและใช้เครื่องมือประมง อวนลาก อวนรุน อวนล้อมในการจับสัตว์น้ำอย่างผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีเรือประมงจากประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า 40 ลำ ที่ถูกจับกุมเนื่องจากบุกรุกเข้ามาทำการประมงในน่านน้ำไทยถึง 10 ครั้ง

"มีการลักลอบเข้าไปทำประมงในน่านน้ำซึ่งเป็นเศรษฐกิจจำเพาะ ที่อยู่ระหว่างเขตชายแดนระหว่างประเทศ ถ้าหากหลบทันก็ไม่โดนจับ แต่ถ้าหลบไม่ทันก็โดนจับ แต่ก็ยังมีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายอยู่จำนวนมาก นับเป็นความเสี่ยงที่คนเหล่านั้นใช้ในการดำเนินอุตสาหกรรมหรือธุรกิจเพื่อผลประโยชน์อันสูงสุด"
 
สาเหตุสำคัญที่ทำลายระบบนิเวศทางทะเล คงหนีไม่พ้นการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ที่นำไปสู่การจับสัตว์น้ำเกินขนาด ไม่ว่าจะเป็น อวนลาก ที่ใช้เรือลากอวนให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง คือ ลากตั้งแต่พื้นทะเลไปจนถึงผิวน้ำ ทำให้ระบบนิเวศหน้าดิน เสียหายเหมือนกับถูกรถไถกวาดหน้าดิน

การทำประมงโดยใช้อวนตาถี่ ภาพถ่ายโดย : อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/กรีนพีซ

ซึ่ง 2 ใน 3 ของสัตว์น้ำที่จับมาจากการใช้เครื่องมือชนิดนี้เป็นสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัย หรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และอวนช้อนปลากะตัก ที่มีการดัดแปลงโดยปรับขนาดอวนให้เล็กลงประกอบกับการใช้แสงสว่างล่อปลา ทำให้ปลาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่เป็นสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ยังโตไม่ได้ขนาดถูกจับไปเป็นจำนวนมากราว 20-50% ของจำนวนปลาทั้งหมดที่จับมาได้
 
การลดลงของทรัพยากรทางทะเลเป็นผลมาจากการทำประมงเกินขนาด โดยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาพบว่า อัตราการจับสัตว์น้ำลดลงจาก 300 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ลดฮวบลงมาเหลือแค่ 25 กิโลกรัมต่อชั่วโมง

"การทำประมงเกินขนาดและทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ปริมาณทรัพยากรทางทะเลในประเทศไทยลดน้อยลง" คุณอัญชลี กล่าว

ชะตาการส่งออกสินค้าประมงไทย
 
การที่อียูให้ใบเหลืองกับสินค้าประมงไทยถือเป็นขั้นตอน การเตือนอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา นางสาวอัญชลี ยืนยันว่า ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่ได้รับผลกระทบที่ชัดเจน เพราะตลาดกลางอย่างยุโรปก็ยังนำเข้าสินค้าประมงไทยเช่นเดิม ไม่มีการตัดสิทธิ์ จึงยังไม่ส่งผลโดยตรงกับการส่งออกสินค้าอาหารทะเลไป EU อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสินค้าประมงไทย

แต่ถ้าหากในอนาคตได้รับใบแดงขึ้นมา ธุรกิจหลักๆ ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงเลยก็คือ อุตสาหกรรมประมงทั้งสดและแปรรูปของไทย จะไม่สามารถส่งออกไปอียูได้เลย เว้นแต่สัตว์น้ำที่มาจากการเพาะเลี้ยง โดยหากเป็นเช่นนั้นจริง จะทำให้เกิดความเสียหายต่อการส่งออกสินค้าประมงไทยไปตลาดอียู อย่างน้อยปีละ 30,000 ล้านบาท 

ปลาทู สินค้าอาหารทะเลส่งออกของไทย ภาพถ่ายโดย : จันทร์กลาง กันทอง/กรีนพีซ

เมื่อถามว่า ประเทศไทยจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ทันตามระยะเวลาที่  EU กำหนดไว้หรือไม่ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะ จากการที่ได้พูดคุยกับกรมประมง ทำให้ทราบถึงอุปสรรคที่สำคัญต่อการแก้ปัญหา ซึ่งก็คือ เรื่องของงบประมาณ และจำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอต่อการจัดการ รวมไปถึงแผนการทำงานที่ไม่สามารถดึงผู้ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบได้อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ดี ถ้าหากไทยมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คาดว่าอียูจะยืดเวลาให้ไทยดำเนินการแก้ไขจนกว่าจะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้คลี่คลายได้ เช่นเดียวกับ ประเทศเกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ที่ใช้เวลาในการแก้ปัญหาเพื่อปลดล็อกใบเหลืองประมงผิดกฎหมายมากกว่า 6 เดือน

มาตรการคุมเข้ม! แก้ปัญหาประมงไทยผิดกฎหมาย

ด้าน ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง ได้ชี้แจงถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ว่า เรือทุกลำจะต้องปฏิบัติตามมาตรการคุมเข้มทางกฎหมาย สำหรับเรือประมงประเภทต่างๆ จะต้องมีทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือหรืออาชญาบัตร และสมุดบันทึกรายละเอียดการจับสัตว์น้ำ (Logbook)

ทั้งนี้ จะมีหน่วยบริการเคลื่อนที่สำหรับจดทะเบียนเรือและอาชญาบัตร ไปบริการตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 โดยชาวประมงจะต้องเตรียมเอกสารต่างๆ เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประชาชน เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง

กรณี ไต๋เรือจะต้องมีบัตรประชาชน นายท้ายเรือและช่างเครื่องจะต้องมีใบประกาศ โดยที่ไต๋เรือและนายท้ายเรือจะต้องเป็นคนไทยเท่านั้น ส่วนช่างเครื่องให้ผ่อนผันเป็นคนต่างด้าวได้ แต่ต้องมีทะเบียนลูกจ้าง และใบอนุญาตทำงานสัญญาจ้างของแรงงานบนเรือที่เป็นต่างด้าว ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้

สำหรับเรือประมงที่มีขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไป จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ติดตามเรือ VMS เพื่อแสดงตำแหน่งเรือที่ใช้ในการติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมงให้อยู่ในเขตน่านน้ำที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2558 เป็นต้นไป นอกจากนี้การออกจับสัตว์น้ำแต่ละครั้งชาวประมงต้องแจ้งเรือเข้า-ออกภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง นับจากจอดเรือเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ที่ศูนย์ควบคุมแจ้งเรือเข้า - แจ้งออกเรือประมง (PIPO) ทั้ง 28 แห่ง 22 จังหวัดทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักสากล ก่อนที่ทางอียูจะมีการประเมินอีกครั้งในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

ประมงปลาทู ภาพถ่ายโดย : จันทร์กลาง กันทอง/กรีนพีซ

การออกใบเหลืองอียูสินค้าประมงไทย เป็นการย้ำเตือนให้คนไทยทุกคนตระหนักถึงภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้น โดยอาจจะส่งผลกระทบต่อความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ ระบบนิเวศทางทะเลและภาพลักษณ์ของประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมประมงควรพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ด้วยการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อคืนชีวิตให้ท้องทะเลไทยและนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในตอนต่อไป ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับชาวประมงและเจ้าของธุรกิจต่อเนื่องอย่างโรงงานน้ำแข็งในพื้นที่ย่านมหาชัย จ.สมุทรสาคร ถึงผลกระทบและความเดือดร้อนที่ได้รับจากมาตรการเร่งด่วน ประมงผิดกฎหมาย เพื่อร่วมกันค้นหาทางออกที่ดีที่สุด โปรดติดตาม!!

 

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top