ไขปริศนาคลิปช้างหมู่มุงบิ๊กไบค์ 10 ข้อรู้จัก ป้องกัน 'ช้างป่าชาร์จ' ใส่ ฉบับ 'หมอล็อต'

  • 11 พ.ค. 2563
  • 2010
หางาน,สมัครงาน,งาน,ไขปริศนาคลิปช้างหมู่มุงบิ๊กไบค์ 10 ข้อรู้จัก ป้องกัน 'ช้างป่าชาร์จ' ใส่ ฉบับ 'หมอล็อต'

เป็นประเด็นร้อนแรงในโลกโซเชียลมีเดียมากทีเดียว สำหรับคลิป หนุ่มบิ๊กไบค์ ขับรถขึ้นเขาใหญ่แล้วเจอโขลงช้างตีวงเข้าใกล้เหมือนจะทำร้าย เจ้าตัวทำอะไรไม่ถูกได้แต่ยกมือไหว้ช้าง จนมีเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ พาออกมาจากวงล้อมได้ในที่สุด

เหตุการณ์ระหว่างมนุษย์กับช้างป่าเผชิญหน้ากัน เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้ง จนเกิดคำถามว่า จริงๆ แล้ว ช้างเป็นสัตว์ดุร้ายถึงขั้นวิ่งพุ่งชนเข้าหามนุษย์เพื่อทำร้ายหรือไม่? รวมถึงนักท่องเที่ยวเอง หากเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร?

วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ ได้ติดต่อสอบถามไปยัง หมอล็อต-ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์สัตว์ป่า ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มาช่วยไขข้อข้องใจในประเด็นดังกล่าว และมีข้อมูลดีๆ 10 ข้อมาฝากกัน พร้อมแล้วตามมาอ่านกันเลย

 

ช้างที่เขาใหญ่

1. ช้าง เป็นสัตว์ที่มีประสาทสัมผัสทางหูดีที่สุด สามารถรับเสียงคลื่นความถี่ต่ำๆ ได้ ตั้งแต่ 12-24 เฮิรตซ์ ต่างกับมนุษย์ที่รับคลื่นความถี่ได้ประมาณ 20 - 20,000 เฮิรตซ์ ฉะนั้นคลื่นเสียงต่ำๆ ช้างก็จะรับรู้ได้ดีกว่าคน ถ้าเขาได้ยินคลื่นเสียงที่สูงกว่านี้ (ดังกว่านี้) จะทำให้ช้างตกใจ เสียงใดๆ ที่ดังเฉียบพลัน จึงทำให้ช้างตกใจได้ง่าย เสียงดังจึงมีผลต่อสัตว์ป่าพอสมควร

2. ช้างเป็นสัตว์ที่สายตาไม่ดี การจำแนกสีก็ไม่ดี และตำแหน่งของดวงตาที่อยู่ด้านข้าง จึงทำให้มองเห็นได้เพียง 120 องศาของด้านข้าง ต่างกับคนเราที่ดวงตาอยู่ด้านหน้า มองได้ในมุมมองที่กว้างกว่า เวลามีอะไรแปลกปลอมช้างก็จะวิ่งมาดูใกล้ๆ

3. จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ หนุ่มบิ๊กไบค์ค่อยๆ ขับมาจนถึงทางโค้งบริเวณที่มีช้างป่าอยู่บนถนน จากนั้นมีช้างเพศเมียพุ่งเข้ามาใกล้ เขาก็กระโดดออกจากรถ รถล้มตะแคงจอดอยู่ พร้อมกับมีเสียงช้างร้อง และช้างตัวอื่นๆ ในโขลงก็วิ่งเข้ามารุมล้อมวง หมอล็อตมองว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ช้างพุ่งเข้าไปหารถมอเตอร์ไซค์มากกว่า

เนื่องจากเห็นว่ายังมีไฟที่รถเปิดอยู่ ยิ่งรถล้มลง ยิ่งทำให้ช้างได้ยินเสียง ก็วิ่งเข้ามาดู สายตาเขาไม่ดี เขาก็เดินเข้ามาดูใกล้ๆ เนื่องจากวัตถุนั้นเขาไม่รู้ว่าเป็นอะไร เขาก็เข้ามารุมมองดูว่าเป็นอะไร ช้างไม่ได้เข้ามารุมคน ช้างเข้ามารุมมอเตอร์ไซค์ เขาสนใจมอเตอร์ไซค์มากกว่า

 

ภาพหนุ่มบิ๊กไบค์ยกมือไหว้ช้างที่เป็นกระแส

4. เสียงที่ช้างร้องเรียกกันที่เห็นในคลิป เป็นการร้องด้วยความตกใจและความสนใจ ช้างตัวอื่นๆ ที่วิ่งเข้ามา ก็คือรู้สึกตื่นตัวและสนใจรถมอเตอร์ไซค์ที่ล้มคว่ำ ไม่ได้ร้องเพื่อเรียกเพื่อนมาทำร้ายคน

5. ในคลิปเห็นว่าหนุ่มบิ๊กไบค์ได้ยกมือไหว้ช้าง ซึ่งนั่นไม่มีความเชื่อมโยงกัน ช้างสนใจวัตถุแปลกปลอมมากกว่า ช้างไม่ได้สนใจว่าคนจะยกมือไหว้หรือเปล่า จริงๆ แล้วอาจทำให้เขาตกใจมากขึ้น

การที่เผชิญหน้ากับช้าง แล้วเราแกว่งมือไปมา ยกมือไปมา อาจเป็นการกระตุ้นช้างด้วยซ้ำ สภาพแวดล้อมที่มีเสียงร้องโหวกเหวก หรือการยกมือโบก ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ช้างเกิดอาการสับสน และความหงุดหงิดได้ง่าย ฉะนั้นการยกมือไหว้ไม่ได้สัมพันธ์กัน

ขณะนั้นเองก็มีเจ้าหน้าที่ เข้ามาช่วยให้หนุ่มบิ๊กไบค์คนนี้สามารถขยับออกมาได้ ฉะนั้นก็ได้ข้อสรุปเลยว่าช้างไม่ได้ดุร้าย ไม่ได้ก้าวร้าว แต่เขาจะตื่นตกใจเสียงต่างๆ ที่มารบกวน

 

ช้างโขลงใหญ่ ที่เขาใหญ่

6. อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ช้างหงุดหงิดง่าย คือ ช่วงปลายฝนต้นหนาว ช้างมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ และเป็นช่วงที่ช้างเพศเมียเริ่มติดสัด ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนเวลาที่ผู้หญิงมีประจำเดือน คือจะมีอารมณ์หงุดหงิดง่ายเป็นพิเศษ

สังเกตได้จากช่วงนี้จะมีช้างตัวผู้เดินตามช้างตัวเมียอยู่ และพยายามจะผสมพันธุ์กับตัวเมีย ฉะนั้นในช่วงนี้ที่ช้างกำลังจะมีการผสมพันธุ์ แล้วพอมาได้ยินเสียงรบกวน ก็ทำให้สัตว์ป่าหงุดหงิดง่ายเป็นธรรมดา

7. สิ่งที่นักท่องเที่ยวควรทำ ถ้าขับมอเตอร์ไซค์แล้วพบช้างอยู่บนถนน ให้ทิ้งรถ แล้ววิ่งหนีจากบริเวณนั้นไปก่อน เพราะเมื่อเขาได้ยินเสียงรถแล้วพุ่งเข้ามา แสดงว่าเขากำลังสนใจที่รถ ไม่ใช่คน อย่าห่วงรถ โดยเฉพาะช่วงนี้มีโอกาสเจอช้างป่ามากเป็นพิเศษ

 

เจ้าหน้าที่มาช่วยหนุ่มบิ๊กไบค์ออกไปจากวงล้อม

8. นักท่องเที่ยวที่นำรถบิ๊กไบค์ขับขึ้นเขาใหญ่ ไม่ได้มีเสียงดังเกินระดับ หน้าด่านทางขึ้นเขาจะมีเจ้าหน้าที่คอยวัดระดับเสียงของรถอยู่ ห้ามเกิน 95 เดซิเบล ถ้าเกินนี้ก็ไม่อนุญาตให้ขับขึ้นไป ทีนี้ถ้ารถคันเดียวอาจจะไม่ดัง แต่ถ้าไปเป็นกลุ่ม 3-4 คัน เสียงก็จะดังมากขึ้น ช้างก็จะเกิดความเครียดสะสม

กรณีที่เกิดขึ้น หมอล็อตมองว่า ไม่ได้เกิดจากช้างหงุดหงิดหรือเกิดจากคนทำเสียงดังเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความไม่ใส่ใจกฎระเบียบของนักท่องเที่ยว การที่ไม่ใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ เมื่อเกิดเหตุคับขันก็จะไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ แต่ถ้าใส่ใจดูป้ายคำเตือน กฎ ระเบียบ ข้อควรปฏิบัติต่างๆ อีกสักหน่อย ก็จะช่วยให้ระมัดระวังภัยได้มากขึ้น

9. จริงๆ การปฏิบัติตัวเวลาเจอช้างป่าที่เขาใหญ่ เขาก็มีป้ายเตือนอยู่ รวมทั้งมีเอกสารแจกเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตัวเมื่อมาเที่ยวที่เขาใหญ่ ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

ส่วนทางอุทยานฯ เอง มีเจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลอยู่แล้ว มีเจ้าหน้าที่ชุดช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจากช้างป่า ที่จะช่วยดูแลอารักขาให้ปลอดภัย ทางเขาใหญ่มีการบริหารจัดการตรงนี้อย่างนี้ มั่นใจได้ในความปลอดภัย

อย่างปีที่ผ่านมาก็มีหลายหน่วยงานมาประชุมหาข้อสรุปร่วมกันว่า ในช่วงนี้ของทุกๆ ปี ควรปิดถนนให้เร็วขึ้น ช้างก็จะได้หากินอย่างมีความสุข ไม่มีการรบกวน นักท่องเที่ยวก็จะปลอดภัยมากขึ้น และถือเป็นการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไปในตัว

 

ช้างไม่ชอบให้รบกวน

10. หมอล็อตมีคำแนะนำให้กับนักท่องเที่ยว ดังนี้ 
- ต้องเว้นระยะห่างจากช้างให้มากที่สุด ระยะปลอดภัยของช้างคือ 50 เมตร ถ้าคนเข้าไปใกล้มากกว่านั้น ช้างจะรู้สึกไม่ปลอดภัย และอาจจะวิ่งเข้าหาคนได้

- ด้วยสภาพถนนขึ้นเขา บางช่วงก็จะโค้งคดเคี้ยว ไม่ควรขับรถเร็วเกิน 60 กม./ชม. ถ้าเห็นช้างอยู่ตรงทางโค้งให้ระวังเพิ่มขึ้น เพราะหลังโค้งอาจมีช้างอยู่อีกหลายตัว ต้องถอยออกมาจนสามารถมองเห็นทางตรงชัดเจน

- ถ้าเจอช้างในระยะใกล้ ให้ถอยออกมาให้มากที่สุด แต่ก็ต้องอยู่ในระยะที่เรายังมองเห็นช้างได้ ทำให้เราสามารถสังเกตอาการของช้างได้ง่าย เช่น ถ้ามีอาการสงบ หางไม่ชี้ หูไม่แกว่ง ก็ทำให้เราค่อยๆ ผ่านไปได้ ถ้าเขามีอาการตื่นเต้น หางจะชี้และสะบัดหูไปมา แต่ถ้าช้างโกรธ หูจะกางออกเต็มที่ หางชี้ เป็นต้น

นอกจากนี้ หมอล็อตยังฝากถึงผู้สัญจรไปมาในถนนสายนี้ว่า ให้เห็นใจเพื่อนร่วมทางด้วยกัน อยากให้รับผิดชอบร่วมกันในฐานะผู้สัญจรใช้เส้นทางเดียวกัน เวลาเดินทางก็ควรไปอย่างเงียบเชียบที่สุด อย่าส่งเสียงดังรบกวนสัตว์ป่า

"จริงๆ ช้างเขาก็เริ่มคุ้นชินกับมนุษย์มากขึ้น เขามีการปรับตัวเข้ากับมนุษย์แล้วนะครับ คำถามคือวันนี้มนุษย์พร้อมปรับตัวเข้ากับพวกเขาแล้วหรือยัง?" นายสัตวแพทย์หนุ่มทิ้งท้าย

 

ที่มาภาพ : FB rescue.klongkhoiyoutubekhaoyainews 

สนใจงาน "งานธุรการ" คลิกเลย

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top