เศรษฐีสะดุ้งคสช.เก็บภาษีมรดก

  • 11 พ.ค. 2563
  • 2143
หางาน,สมัครงาน,งาน,เศรษฐีสะดุ้งคสช.เก็บภาษีมรดก

กุมารเศรษฐีจ่อหนาว! คสช.อนุมัติเก็บภาษีมรดก “สรรพากร” เดินเครื่องเต็มที่ส่งร่างกฎหมายใหม่ถึงมือกฤษฎีกาแล้ว เสร็จเมื่อไรส่ง คสช.เคาะใช้ทันที คาดอัตราอยู่ระหว่าง 5–30% “ประสงค์” ระบุ เก็บเฉพาะจากมรดกที่ขึ้นทะเบียน เช่น บ้านที่ดิน รถ เงินฝาก หุ้น ส่วนเพชร ทอง เครื่องประดับ พระเครื่อง ไม่เข้าข่าย

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติในหลักการให้กรมสรรพากรดำเนินการจัดเก็บภาษีมรดกได้ โดยมีหลักการสำคัญ 4 ข้อ คือ 1.เก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับมรดก 2.มรดกที่ถูกเก็บภาษี ต้องเป็นสินทรัพย์ที่มีการขึ้นทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ หุ้น เงินฝากหรือพันธบัตร เป็นต้น 3.อัตราภาษีที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณานั้น จะจัดเก็บในอัตราสูงกว่า 5% แต่น้อยกว่า 30% ของราคาสินทรัพย์ และ 4.เก็บภาษีมรดกจะจัดเก็บจากสินทรัพย์ที่อยู่ในตลาด หลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์

ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้ส่งร่างกฎหมายใหม่การจัดเก็บภาษีมรดกดังกล่าวไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแล้ว และอยู่ระหว่างรอการชี้แจงร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพราะยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจน และสามารถให้ความยุติธรรมต่อทุกฝ่าย หลังจากนั้น กรมสรรพากรจะเสนอร่างกฎหมายให้ คสช.พิจารณาเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยในหลักการแล้วกรมสรรพากรไม่ได้จัดเก็บมรดก เพื่อหวังผลจากรายได้ หรือเม็ดเงินภาษี แต่เป็นเรื่องของความยุติธรรมในระบบภาษีมากกว่า เพราะคนทำงานแล้วมีรายได้ คือผู้ใช้ทรัพยากรของประเทศและเป็นผู้ที่เสียภาษีให้แก่รัฐบาล แต่ผู้ที่รับมรดกคือ ผู้ที่ได้รับทรัพย์สินจากผู้เสียชีวิต ทำให้มีฐานะร่ำรวยเพิ่มมากขึ้นก็ควรที่จะเสียภาษีให้แก่รัฐบาลเช่นกัน

อธิบดีกรมสรรพากรระบุด้วยว่า ประเภทมรดกที่เข้าข่ายจะต้องเสียภาษี ในเบื้องต้นกรมสรรพากรจะเก็บจากทรัพย์สินที่มีการลงทะเบียนเอาไว้อย่างชัดเจน เพราะสามารถตีราคาสินทรัพย์ที่เป็นปัจจุบันได้ ทำให้สะดวกในเรื่องของการคำนวณราคา และการคำนวณภาษี เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เงินฝากในบัญชีของธนาคาร พันธบัตร ตราสาร และหุ้น เป็นต้น ส่วนทรัพย์สินที่ไม่มีการลงทะเบียน เช่น เครื่องประดับ พระเครื่องและวัตถุโบราณ เป็นต้น จะไม่นำมาคำนวณในการเก็บภาษีมรดก

“อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้กรมสรรพากรไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่า จะจัดเก็บภาษีมรดกในแต่ละปีได้ในจำนวนเท่าใด แต่ขึ้นอยู่กับการเสียชีวิตของผู้ที่มีมรดกมากกว่า หากปีใดที่มีเศรษฐี หรือมหาเศรษฐีตายในปีนั้น กรมสรรพากรก็จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีมรดกเพิ่มมากขึ้น แต่หากในปีใดไม่มีเศรษฐีตาย กรมสรรพากรก็จะจัดเก็บภาษีได้น้อย”

อีกประเด็นหนึ่งกรมสรรพากรประเมินว่า การจัดเก็บภาษีมรดกยังช่วยในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกด้วย เพราะคนที่ร่ำรวย หรือเศรษฐีแม้จะมีเงินมากมาย แต่ปริมาณการใช้จ่ายน้อยมากเมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่ถือครองอยู่ ทำให้ความมั่งคั่งหรือเงินที่ถูกสะสมเอาไว้ไม่ได้ถูกนำมาใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ แต่ต้องการเก็บเอาไว้เป็นมรดกเพื่อมอบให้แก่ลูกหลาน ซึ่งเงินจำนวนนี้หากมีการนำออกมาใช้จ่ายก็จะช่วยทำให้เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กรมสรรพากรได้ศึกษาเรื่องการจัดเก็บภาษีมรดกมานานกว่า 20 ปี แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถผลักดันได้สำเร็จ เพราะมีข้อมูลโต้แย้งและข้อมูลที่สนับสนุนมาหักล้างกันตลอดเวลา ทั้งนี้ ฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการจัดเก็บภาษีมรดกระบุว่า บุคคลที่ใช้ทรัพยากรภายในประเทศก็ควรที่จะเสียภาษีให้แก่รัฐบาล มรดกที่ผู้รับได้รับจากผู้ตายก็ควรเสียภาษีให้แก่รัฐบาล ส่วนฝ่ายที่คัดค้านระบุว่า ก่อนที่ผู้ตายจะเสียชีวิต ทรัพย์สินที่เป็นมรดกทิ้งไว้ให้แก่ลูกหลานได้เสียภาษีให้แก่รัฐบาลไปหมดแล้ว เมื่อผู้รับได้รับมรดกจากผู้ตายก็ไม่ควรเสียภาษีอีกแล้ว

โดยปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วมีการจัดเก็บภาษีมรดกในอัตราที่สูงมาก ทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เนื่องจากคนรวยที่สะสมทรัพย์สินไว้เป็นจำนวนมาก มักจะไม่นำทรัพย์สินเหล่านั้นออกมาใช้หรือก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและประเทศชาติ โดยประเทศญี่ปุ่นมีการจัดเก็บภาษีมรดกจากผู้รับในอัตราสูงถึง 50% ทำให้คนชราในญี่ปุ่นเก็บสะสมเงินน้อยลง และกลายเป็นกลุ่มคนที่กำลังซื้อของประเทศ ซึ่งคนชรากลุ่มนี้มักจะชอบเดินทางและท่องเที่ยวเพื่อใช้จ่ายเงิน ซึ่งวิธีการนี้ทำให้มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตด้วยว่า ในปัจจุบันผู้รับโอนมรดกไม่ได้เสียภาษี ทั้งกรณีการโอนมรดกให้ก่อนเสียชีวิต และการโอนมรดกให้หลังจากเสียชีวิตแล้ว ซึ่งกฎหมายใหม่ที่จะออกใช้นี้ นอกจากกรณีการเสียภาษีมรดกที่โอนให้หลังเสียชีวิตแล้ว ผู้สื่อข่าวคาดว่า กรมสรรพากรจะครอบคลุมการเสียภาษีมรดกกรณีที่โอนให้ก่อนเสียชีวิตด้วย และอาจจะรวมไปถึงกรณีการจัดตั้งกองมรดก ซึ่งเศรษฐีส่วนใหญ่นิยมจัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารสินทรัพย์ เพราะส่วนนี้ยังเป็นช่องโหว่ที่นิยมดำเนินการกัน แต่อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาว่า จะครอบคลุมไปถึงกรณีดังกล่าวหรือไม่ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมรดกสามารถดำเนินการได้อย่างครบถ้วนในทุกกรณี.

 

ขอขอบคุณข่าว และภาพข่าว : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top