
ผู้สมัครงาน
องค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่า… ถ้าทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเส้นเลือดในสมองแตกถึง 35% และหัวใจวายเฉียบพลันถึง 17% แต่พบว่าคนไทยใช้เวลาในที่ทำงานประมานวันละ 8–12 ชั่วโมง หรือรวมกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และนอกจากจะเสี่ยงต่อโรคร้ายแล้ว ยังมีปัญหาสุขภาพจิตจากความกดดันในการทำงานตามมาอีกด้วย
สุขภาพจิตที่ดี ที่ทุกคนต้องมี และต้องช่วยกันสร้าง
เพราะคนไทยใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน การสร้างสุขภาพจิตที่ดีจึงไม่ใช่แค่เรื่องของพนักงานคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องได้รับการให้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์กร หัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงาน
ในปัจจุบัน หลายองค์กรก็เริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาวะทางจิต (Psychological Well-being) ในที่ทำงานมากขึ้น เพื่อให้พนักงานมีความรู้สึกและอารมณ์เชิงบวกในการทำงาน มีความพึงพอใจ และรู้สึกถึงความสำเร็จได้ด้วยการสนับสนุนจากองค์กร
22 มกราคม ที่ผ่านมา ได้มีการมอบรางวัลองค์กรต้นแบบ 11 แห่งให้เป็น “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” (Thai Mind Awards) โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกด้านการสร้างสุขภาวะทางจิตในที่ทำงานจากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตามหลักการสร้างสุขภาวะทางจิตด้วย “GRACE” 5 ด้านตามหลักจิตวิทยาองค์กร ดังนี้…
1️. G = Growth & Development
สนับสนุนการเติบโตและพัฒนาศักยภาพของพนักงาน ทำให้พนักงานเห็นความก้าวหน้าในสายอาชีพและรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง
2️. R = Recognition
แสดงความชื่นชมและยอมรับในความสำเร็จของพนักงาน เพราะการได้รับการยกย่องช่วยสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองและเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน
3️. A = All for Inclusion
ส่งเสริมความหลากหลายและการมีส่วนร่วมในองค์กร พนักงานจะรู้สึกมีพื้นที่ของตัวเองและมองว่าตัวเองเป็นส่วนสำคัญของทีม
4️. C = Care for Health & Safety
ดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้พนักงานรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย
5️. E = Work-Life Enrichment
มีนโยบายสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว เพื่อทำให้ชีวิตทั้งสองด้านส่งเสริมซึ่งกันและกัน
เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดี หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จิตวิทยาตะวันตก-ตะวันออก และประธานแขนงวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า “GRACE เป็นแนวทางเชิงรุก (proactive) ที่ไม่เพียงแค่ช่วยให้พนักงานหลีกเลี่ยงความเครียดหรือซึมเศร้าเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาวะทางจิตที่ดีในทุกวัน โดยเริ่มจากการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในที่ทำงาน ถ้าที่ทำงานเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมความสุขและทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่า การทำงานในทุกวันก็จะกลายเป็นพลังบวกที่จะส่งผลดีให้กับชีวิตส่วนตัวและครอบครัวของพนักงาน“
เกรียงไกร อยู่ยืน รองประธานบริหารและผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในองค์กรที่ได้รับรางวัลสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตดีเด่น ได้บอกว่า “การสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดีเริ่มต้นจากการปลูกฝังสติ เพราะเชื่อว่า สติเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้พนักงานมีชีวิตที่ดีทั้งในงานและชีวิตส่วนตัว โดยแนวคิดนี้ได้นำมาปรับใช้ในองค์กรผ่านโปรแกรม Mindfulness in Organization (MIO) ที่มุ่งเน้นการฝึกสติให้กับพนักงานทุกคนเช่น การฝึกหายใจอย่างมีสติ การจัดสวนขวด วาดรูป หรือจัดดอกไม้ ซึ่งทุกกิจกรรมอยู่บนพื้นฐานของการฝึกสติ”
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ได้บอกว่า “องค์กรที่ได้รับการยกย่องเป็นสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต มีรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือทุกองค์กรทำให้เห็นว่า การดูแลสุขภาวะทางจิตในที่ทำงานเป็นเรื่องที่สามารถทำได้จริง และมีความจำเป็นมากๆ ในโลกการทำงานที่เต็มไปด้วยความกดดันในปัจจุบัน ซึ่งทุกองค์กรก็จะเป็นต้นแบบสำหรับองค์กรอื่น ๆ ในการสร้างบรรยากาศการทำงานที่ลดปัญหาสุขภาพจิตต่อไปในอนาคต”
เพราะการสร้างสุขภาวะทางจิตในที่ทำงานไม่เพียงช่วยให้พนักงานมีความสุข แต่จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพและความยั่งยืนขององค์กรในระยะยาว ด้วยการนำหลักการสร้างสุขภาวะทางจิตมาปรับใช้ องค์กรจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงานและสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรอีกด้วยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลดีๆ
จาก : https://theactive.thaipbs.or.th/news/publichealth-20250123
สอบถามเพิ่มเติมสำหรับ HR
อีเมล : [email protected]
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved