องค์กรต้องเร่ง สร้างสุขภาพจิตที่ดีด้วย GRACE ลดความเสี่ยงต่อโรคร้าย และปัญหาสุขภาพจิตในอนาคต

  • 23 Feb 2025
  • 318
หางาน,สมัครงาน,งาน,องค์กรต้องเร่ง สร้างสุขภาพจิตที่ดีด้วย GRACE ลดความเสี่ยงต่อโรคร้าย และปัญหาสุขภาพจิตในอนาคต

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่า… ถ้าทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเส้นเลือดในสมองแตกถึง 35% และหัวใจวายเฉียบพลันถึง 17% แต่พบว่าคนไทยใช้เวลาในที่ทำงานประมานวันละ 8–12 ชั่วโมง หรือรวมกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และนอกจากจะเสี่ยงต่อโรคร้ายแล้ว ยังมีปัญหาสุขภาพจิตจากความกดดันในการทำงานตามมาอีกด้วย

 

สุขภาพจิตที่ดี ที่ทุกคนต้องมี และต้องช่วยกันสร้าง

เพราะคนไทยใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน การสร้างสุขภาพจิตที่ดีจึงไม่ใช่แค่เรื่องของพนักงานคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องได้รับการให้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์กร หัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงาน

 

ในปัจจุบัน หลายองค์กรก็เริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาวะทางจิต (Psychological Well-being) ในที่ทำงานมากขึ้น เพื่อให้พนักงานมีความรู้สึกและอารมณ์เชิงบวกในการทำงาน มีความพึงพอใจ และรู้สึกถึงความสำเร็จได้ด้วยการสนับสนุนจากองค์กร

 

22 มกราคม ที่ผ่านมา ได้มีการมอบรางวัลองค์กรต้นแบบ 11 แห่งให้เป็น  “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” (Thai Mind Awards) โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกด้านการสร้างสุขภาวะทางจิตในที่ทำงานจากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตามหลักการสร้างสุขภาวะทางจิตด้วย “GRACE” 5 ด้านตามหลักจิตวิทยาองค์กร ดังนี้…

 

1️. G = Growth & Development

สนับสนุนการเติบโตและพัฒนาศักยภาพของพนักงาน ทำให้พนักงานเห็นความก้าวหน้าในสายอาชีพและรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง

 

2️. R = Recognition

แสดงความชื่นชมและยอมรับในความสำเร็จของพนักงาน เพราะการได้รับการยกย่องช่วยสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองและเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน

 

3️. A = All for Inclusion

ส่งเสริมความหลากหลายและการมีส่วนร่วมในองค์กร พนักงานจะรู้สึกมีพื้นที่ของตัวเองและมองว่าตัวเองเป็นส่วนสำคัญของทีม

 

4️. C = Care for Health & Safety

ดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้พนักงานรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย

 

5️. E = Work-Life Enrichment

มีนโยบายสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว เพื่อทำให้ชีวิตทั้งสองด้านส่งเสริมซึ่งกันและกัน

 

เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดี หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จิตวิทยาตะวันตก-ตะวันออก และประธานแขนงวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า “GRACE เป็นแนวทางเชิงรุก (proactive) ที่ไม่เพียงแค่ช่วยให้พนักงานหลีกเลี่ยงความเครียดหรือซึมเศร้าเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาวะทางจิตที่ดีในทุกวัน โดยเริ่มจากการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในที่ทำงาน ถ้าที่ทำงานเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมความสุขและทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่า การทำงานในทุกวันก็จะกลายเป็นพลังบวกที่จะส่งผลดีให้กับชีวิตส่วนตัวและครอบครัวของพนักงาน“

 

เกรียงไกร อยู่ยืน รองประธานบริหารและผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในองค์กรที่ได้รับรางวัลสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตดีเด่น ได้บอกว่า “การสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดีเริ่มต้นจากการปลูกฝังสติ เพราะเชื่อว่า สติเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้พนักงานมีชีวิตที่ดีทั้งในงานและชีวิตส่วนตัว โดยแนวคิดนี้ได้นำมาปรับใช้ในองค์กรผ่านโปรแกรม Mindfulness in Organization (MIO) ที่มุ่งเน้นการฝึกสติให้กับพนักงานทุกคนเช่น การฝึกหายใจอย่างมีสติ การจัดสวนขวด วาดรูป หรือจัดดอกไม้ ซึ่งทุกกิจกรรมอยู่บนพื้นฐานของการฝึกสติ”

 

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ได้บอกว่า “องค์กรที่ได้รับการยกย่องเป็นสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต มีรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือทุกองค์กรทำให้เห็นว่า การดูแลสุขภาวะทางจิตในที่ทำงานเป็นเรื่องที่สามารถทำได้จริง และมีความจำเป็นมากๆ ในโลกการทำงานที่เต็มไปด้วยความกดดันในปัจจุบัน ซึ่งทุกองค์กรก็จะเป็นต้นแบบสำหรับองค์กรอื่น ๆ ในการสร้างบรรยากาศการทำงานที่ลดปัญหาสุขภาพจิตต่อไปในอนาคต”

 

เพราะการสร้างสุขภาวะทางจิตในที่ทำงานไม่เพียงช่วยให้พนักงานมีความสุข แต่จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพและความยั่งยืนขององค์กรในระยะยาว ด้วยการนำหลักการสร้างสุขภาวะทางจิตมาปรับใช้ องค์กรจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงานและสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรอีกด้วยค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลดีๆ

จาก :  https://theactive.thaipbs.or.th/news/publichealth-20250123

 

สอบถามเพิ่มเติมสำหรับ HR 

อีเมล : [email protected]

JOBBKK.COM © Copyright All Right Reserved

Jobbkk has only one website. In no case, we have an affiliate, agent or appointee. Please do not rely on any other website, email, telephone, SMS or other contacting channel. If it is a case, we will prosecute under a lawsuit in the upmost as allowed. DBD

Top