อ่านหัวปุ๊บ ซาดิสต์ปั๊บ...แนะวิธีปราบ 'เกรียนคีย์บอร์ด' ครองเมือง

  • 11 พ.ค. 2563
  • 1991
หางาน,สมัครงาน,งาน,อ่านหัวปุ๊บ ซาดิสต์ปั๊บ...แนะวิธีปราบ 'เกรียนคีย์บอร์ด' ครองเมือง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คนไทยอย่างเราๆ เคยมีสถิติการอ่านหนังสือที่ไม่ดีมากนัก คือในอดีตคนไทยไม่ชอบการอ่าน แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา สถิติดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ จะเห็นได้ว่า คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น นานขึ้น ไม่ว่าจะบทความ ข่าวสาร เรื่องเล่า จากเว็บไซต์ข่าว พันทิป เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือตามบล็อกต่างๆ แถมอ่านอย่างเดียวไม่พอ พากันคอมเมนต์อย่างสนุกมือ จนเป็นที่มาของ "นักเลงคีย์บอร์ด" หรือที่หลายคนเรียกว่า "เกรียนคีย์บอร์ด" คือเกรียน ป่วนไปทั่ว แต่ถึงกระนั้นก็น่าดีใจ ที่คนไทย เปิดหูเปิดตาได้มากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่ใกล้ตัวขึ้นทุกวัน

วันนี้ "ไทยรัฐออนไลน์" ได้พูดคุยกับ "หนูดี-วนิษา เรซ" ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและการเรียนรู้ ที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา ในมุมมองเรื่องของการอ่านและคอมเมนต์ โดยหนูดี แสดงความเห็นไว้ว่า

"หนูดี-วนิษา เรซ" ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและการเรียนรู้

"หนูดีมองเป็นกลางนะ เวลามีน้อยมาก สังคมสมัยนี้มันเปลี่ยนไป ยุคนี้เวลาเป็นอะไรที่หมดไปเร็วมาก การรับข่าวสารก็เปลี่ยนไปเช่นกัน คนเขียน นักเขียน ก็จะต้องปรับตัวกันไปด้วย ถ้าเรื่องมันยาวไป เขาก็ไม่มีเวลาอ่านทั้งหมด เค้าคิดว่า หัวเรื่อง มันอาจสรุปมาทั้งหมด เขาก็เลยอาจจะคอมเมนต์เลย ส่วนหนูดี เป็นคนที่มีเวลาอ่านน้อย หัวข้อไหนน่าสนใจ หนูดีจะแชร์เก็บไว้ก่อน แล้วค่อยมาอ่านทีหลัง แต่จะไม่คอมเมนต์ทันที"

สไตล์การอ่าน

"หนูดีว่า ก็ต้องๆ ช่วยกัน นักเขียนสมัยนี้ ก็ไม่เขียนอะไรที่มันเยิ่นเย้อ หรือยาวไป ก็ต้องพยายามเข้าประเด็นให้มันเร็วๆ เพราะต้องเข้าใจคนอ่านว่า เวลาน้อย สมมติเราเป็นคนเขียน ก็ต้องสรุปประเด็น หรืออาจจะขึ้นวรรคใหม่ เพื่อให้คนได้อ่านเร็ว และเข้าใจมากขึ้น แต่ถ้าอันไหนจำเป็นต้องเขียนยาวๆ เราก็จะแยกให้เขา เป็นย่อหน้า เป็นหัวข้อไป"

น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า

"คนอ่านก็อยากอ่านให้ครบ คนเขียนก็อยากให้คนอ่านอ่านให้ครบ ถ้าคนอ่าน อ่านไม่ครบ ก็แสดงว่า คนเขียนต้องทำอะไรพลาดสักอย่าง มันไม่ใช่คนไทยไม่อยากอ่านนะ ไม่งั้นพันทิปก็คงไม่มีคนอ่าน คนเมนต์เยอะขนาดนั้นหรอก แถมเวลาที่อ่าน ก็อ่านทุกคอมเมนต์อีกต่างหาก จะว่าคนไทยไม่ชอบอ่าน มันก็ไม่ใช่นะ"

ตลอดเวลา ตลอดการเดินทาง มีโซเซียลเป็นเพื่อน

ในมุมคนเขียนคนหนึ่ง

"ถ้าเราเขียน อย่าคิดว่า เราจะเขียนยาวแค่ไหน คนอ่านต้องมีความขยันในการอ่านอยู่แล้ว แต่คนเขียน อาจต้องช่วยคนอ่าน เพราะเงื่อนไขชีวิตคนเมืองยุคนี้ อยากจะทำทุกอย่าง ในเวลาจำกัด แต่บางทีเขามีเวลาแค่ 5 นาทีในการอ่าน เราก็ต้องคิดว่า จะให้ข้อมูลอยู่ในรูปแบบไหน ในเวลา 5 นาทีที่เขาอ่าน จะอ่านได้เร็ว จับใจความเร็วที่สุด" วนิษา เรซ สะท้อนความเห็น

กลับมาในฐานะคนอ่าน

"มันมีหลายสิ่งมาดึงความสนใจเรา ถ้าเราไม่อยากเป็นคนตื้นเขิน คือ อ่านแต่หัวข้อแล้วเอามาพูดคุย หรือเอามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เราต้องมีรายละเอียดทั้งหมดก่อน ไม่งั้นเราก็หน้าแตก แต่เราจะอ่านอย่างไร ให้ได้ข้อมูลที่เร็วที่สุด"

วิธีการอ่านเร็ว

"การอ่านเร็วที่สุด มันขึ้นอยู่กับว่า เราอยากอ่านในระดับไหน แบบไหนด้วย ถ้าเราอ่านเร็วที่สุด บางทีมันก็ไม่ได้ เพราะว่าหลายเรื่อง ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ ค่อยๆ ย่อยเนื้อหา มันก็ต้องดูว่า เรายินดีจะให้เวลากับการอ่านแค่ไหน สมมติเราไม่มีเวลา เราก็เก็บไว้ก่อน ค่อยมาอ่านทีหลัง แล้วค่อยคอมเมนต์ ไม่ต้องรีบร้อนคอมเมนต์ เพราะบางทีแบบหัวข้อมันหวือหวา แต่บางทีในเนื้อหา อาจไม่ใช่อย่างนั้นเลย"

โลกส่วนตัวอีกใบ ในพื้นที่สาธารณะ

เทคนิคเขียน

หนูดี แนะนำต่อว่า "สิ่งเหล่านี้น่าจะช่วยให้คนอ่านมากขึ้นได้ คือ งดใช้คำเกิน คำฟุ่มเฟือย สรุปประเด็น แยกหัวข้อ ขึ้นย่อหน้าใหม่"

เทคนิคของคนอ่าน

หนูดีบอกว่า "เล็งที่ไอเดียใหม่ แนวคิดใหม่ๆ เพราะในเรื่องนั้นๆ อาจมีหลายไอเดีย ซึ่งเราจะอ่านแบบกระโดดก็ได้ แต่ถ้าอ่านแค่ต้นย่อหน้า หลังจากนั้นไม่คอมเมนต์ได้ก็ดี ยกเว้นถ้ามันไม่ไหวจริงๆ หรือถ้าจะนำข้อมูลไปคุยต่อ ก็ควรอ่านให้มันครบจะดีกว่า"

บทสุดท้ายของ "คอมเมนต์"

"จริงๆ เรื่องคอมเมนต์ หนูดีไม่ค่อยอ่านนะ จะอ่านแต่เนื้อหาพอ เพราะคนที่คอมเมนต์เยอะๆ มันเป็นธรรมชาติของคน ที่มีความแตกต่างกันทางความคิด มันไม่มีทางที่คนจะคิดเหมือนกันหมด ถ้าเรามีเวลาน้อย มีงาน มีภาระอยู่แล้ว ก็คงไม่มีเวลาไปไล่อ่านคอมเมนต์ แต่เรื่องการแสดงความคิดเห็น มันเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถไปเปลี่ยนความคิดคนอื่นอยู่แล้ว ดังนั้น หนูดีก็เลือกบริโภคแต่เนื้อหาพอ"

ทุกสื่อ ทำให้ไม่พลาดการสื่อสาร

คอมเมนต์ดี มีประโยชน์ ถมเถไป!

"หนูดีเป็นคนใช้สื่อออนไลน์เยอะมาก ข่าว บทความ เรื่องราวต่างๆ แต่หนูดีจะไม่อ่านคอมเมนต์นะ ส่วนเรื่องสุขภาพ อาหาร นี่เรื่องโปรดของหนูดีเลย มันมาเร็วกว่าหนังสืออีก เราเรียนรู้ได้จากโชเซียลฯ และที่สำคัญคือ หนูดีจะเลือกอ่านคอมเมนต์ของเรื่องเหล่านี้ เพราะมันทำให้เราได้ลองผิด ลองถูก ในการปรุงอาหาร ทำของกิน ซึ่งหนูดีว่า มันมีประโยชน์มากกว่าหนังสือด้วยซ้ำ" หนูดีทิ้งท้ายกับเรา

ด้านพิธีกรและนักแสดงมากความสามารถ "บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี" ที่ล่าสุดถูกกระแสโซเชียลฯ วิพากษ์วิจารณ์ ถึงกรณีรถยนต์ที่ขายไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ถูกปลอมทะเบียนไปสร้างสถานการณ์วางระเบิดในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีความเห็นถึงการพาดหัวข้อข่าว และความเห็นของผู้อ่านด้วย แตกต่างกันไป

แท็บเล็ต พกพาง่าย ไปได้ทุกที่

งานนี้อดีตนางสาวไทย เปิดเผยกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ถึงเรื่องการอ่านแล้วแสดงความเห็นว่า

"เรื่องนี้ค่อนข้างจะหนักไป เห็นใจทั้งฝ่ายนักข่าว ล่าสุดเรื่องของระเบิดทางภาคใต้ ที่เขียนว่า บุ๋มปัดวางระเบิดภาคใต้ คนก็เข้าไปเมนต์ว่า ไปโยงกันได้อย่างไร ไม่เกี่ยวสักหน่อย โอเค…ส่วนหนึ่งคนปกป้องบุ๋ม แต่จริงๆ คือคุณต้องเข้าไปอ่านเนื้อข่าว และเขาก็ไปว่านักข่าวเต็มไปหมดเลย แต่มันมีส่วนมั้ย มันมีส่วน มันเป็นเรื่องจริง แต่เขาไม่ไปอ่านกัน เขาก็ด่าคนเขียนหัวข้อข่าวเต็มอินสตาแกรมเลย พี่ก็สงสารนะ"

ธรรมชาติของข่าว 

"ในส่วนของการทำข่าว มันก็ต้องมีหัวข้อข่าวที่มันขายของ และน่าสนใจ พี่ก็เข้าใจ แต่ในส่วนของผู้อ่าน ที่ไม่อ่านทั้งหมด แต่ด่าไปก่อนเลย เราก็คงต้องมารณรงค์กัน คือ อย่าอ่านแล้วด่วนตัดสินใจ คือเราต้องเก็บข้อมูลก่อนมีการวิพากษ์วิจารณ์" 

 

 

ตัวอย่างจากการเรียน

"สมัยที่บุ๋มเรียนนะ มีวิชานึงจะต้องวิจารณ์หนังสือ คือบุ๋มจะต้องอ่านหนังสือเล่มนั้นหมดทั้งเล่ม แค่นั้นไม่พอ จะต้องอ่านหนังสือเล่มอื่นๆ ด้วย เพื่อมาเปรียบเทียบด้วย ว่ามันดี หรือไม่ดีอย่างไร นั่นหมายถึงว่า คุณห้ามอ่านแค่ปกหนังสือ แต่คุณต้องอ่านเนื้อใน สมัยก่อนบุ๋มโดนคนด่าเยอะมาก อาจเป็นเพราะว่า เขาดูภาพลักษณ์ภายนอก กับข่าวที่เกี่ยวกับตัวบุ๋ม แต่เขาไม่ได้ดูตัวตนจริงๆ ของบุ๋มเหมือนกัน"

ความรับผิดชอบต่อโซเชียลฯ

"เวลาจะดูคน เวลาจะอ่านข่าว ก่อนที่วิพาษ์วิจารณ์ เราต้องศึกษาข้อมูลดี เพราะทุกคำ มันคือความรับผิดชอบของเรา นักข่าวก็คงไม่ใช่หลับหูหลับตา เขียนแต่หัวข้อข่าวอย่างเดียว ในเนื้อหามันต้องมีอะไร แค่อ่านมันให้จบก่อน แต่ก็เข้าใจนะ ว่ามันเป็นการตลาดของหัวข้อข่าว เพื่อให้ดูน่าสนใจไว้ก่อน มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่คนเรามักจะไม่ค่อยอ่านเนื้อในข่าว รณรงค์กันสักนิดนึง เพราะบางทีมันรุนแรงและอันตราย"

มือถือ เทคโนโลยีใกล้ตัว

วิจารณ์แบบขาดความรู้

"บุ๋มไม่อยากให้มันเป็นความจริง ที่คนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 6 บรรทัด แต่ก็จริงนะ อะไรที่แปลกๆ รุนแรง คำด่าชาวบ้าน จะชอบอ่านกันมาก แต่อะไรที่เป็นประโยชน์ สาระ หรือการค้นหาความจริง จะไม่อ่านกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวย่อ จริงๆ ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นนะ อยากให้สังคมเรา เป็นสังคมของการค้นหาความจริง เป็นสังคมของการเรียนรู้ มากกว่าสังคมวิพากษ์วิจารณ์โดยขาดความรู้"

"รู้มากกว่าพูด เขาถึงให้เรามี 2 ตา 2 หู มีปากเดียว" สาวบุ๋มทิ้งท้ายได้อย่างน่าสนใจ

โน้ตบุ๊ค อีกหนึ่งช่องทางสู่โซเซียล

บทสรุปของเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดมาทั้งหมด ทำให้เรา ในมุมมองผู้เขียน และในฐานะผู้อ่าน ได้เห็นความหลากหลายทางความคิดเพิ่มขึ้นอีก แต่จะมุมมองไหนก็ตามคอลัมน์ดังแห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เคยระบุไว้เช่นกันว่า

"...เพราะหนังสือคือความรู้ และเป็นความรู้ที่เรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น คนที่อ่านหนังสือมาก มีความรอบรู้มาก ย่อมมีโอกาสมากกว่าคนอ่านหนังสือน้อยเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นความรู้อะไรก็ตาม..."

ขอขอบคุณ "ลมเปลี่ยนทิศ"

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top